หญ้าลิ้นงู ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Flat-Top Mille Graines หรือ Diamond Flower พืชชนิดหนึ่งในวงศ์เข็ม (Rubiaceae) พบได้ตามทุ่งหญ้าที่มีหญ้ายาวหรือหญ้าสั้น พุ่มไม้เตี้ย เนินภูเขาสูง ดินตื้นบนโขดหิน สันแม่น้ำทราย ร่องและแอ่งน้ำแห้งบนดินฝ้ายดำ ที่ปลูกและรกร้าง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 0 – 1,100 เมตร แพร่กระจายพันธุ์อยู่มากในแถบประเทศเขตร้อนในแอฟริกา เอเชีย จนถึง นิวกินี อันที่จริงแล้ว คำว่าหญ้าลิ้นงูนั้นจัดเป็นสกุลของหญ้า ที่มีพรรณไม้ในสกุลเกือบ 50 ชนิดในประเทศไทยเรา โดยแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของลักษณะสัณฐานแตกต่างกันไป
หญ้าลิ้นงู เป็นพืชล้มลุก มีความสูงตั้งแต่ 5-40 เซนติเมตร แตกใบเป็นคู่ ออกตรงกันข้ามกันแบบตั้งฉาก แตกใบเป็นรูปเรียว รีหรือแถบ ใบแคบ โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ผิวใบด้านบนและเส้นใบด้านล่างมีขนสากปกคลุม ผลิดอกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยวบริเวณง่ามใบและปลายยอด ช่อดอกมีลักษณะเป็นซี่ๆ คล้ายซี่ของร่ม มีก้านดอกสั้นๆ ราว 2-8 มิลลิเมตร ดอกมีสีขาว ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงลักษณะสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.3-1 มิลลิเมตร จำนวน 4 กลีบ บริเวณขอบกลีบเลี้ยงมีขนปกคลุม ส่วนกลีบดอกนั้นมี 4 กลีบเช่นกัน โคนดอกประสานเป็นหลอดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ด้านนอกของดอกผิวเกลี้ยง แต่บริเวณปากหลอดด้านในของดอกมีขนยาวขึ้นเรียงเป็นแถว มีเกสรตัวผู้และตัวเมีย ให้ผลรูปทรงรีแบบไข่กลับหรือค่อนข้างกลมและมีเมล็ดอยู่ด้านในจำนวนมาก
หญ้าส่วนใหญ่เรามักจะจัดว่าเป็นวัชพืชตัวร้ายที่คอยมาแย่งอาหารของพืช แต่ในทางกลับกันแล้วหากเรานำมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง จะเป็นของที่สร้างมูลค่าโดยที่เราไม่ต้องลงทุนค่าใช้จ่ายมากนัก ยกตัวอย่างเช่น หญ้าลิ้นงู ที่แต่เดิมจะนำรากมาใช้เป็นสีย้อมสิ่งทอให้เป็นสีเขียว ในขณะที่การแพทย์แบบดั้งเดิมของประเทศต่างๆ ได้นำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยทั้งภายนอกและภายใน โดยในตำรากี่แพทย์แผนจีนจะนำไปใช้รักษาอาการอักเสบและโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ตับ ปอดไส้ติ่ง ลำไส้ และยังใช้ในการรักษาอาการสิวอักเสบและฝีบริเวณผิวหนัง ส่วนในประเทศอินเดีย จะใช้ยาต้มจากหญ้าลิ้นงูเป็นส่วนผสมทั่วไปเพื่อรักษาอาการไข้ แก้อาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการซึมเศร้า ใช้เป็นยาบำรุงธาตุชูกำลัง นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคดีซ่านและภาวะตับอักเสบ ขณะที่ตำรายาพื้นบ้านของไทยก็ยังใช้ต้นหญ้าลิ้นงูเป็นยา เช่น นำมาต้นสดมาต้มเพื่อล้างแผลพุพองจากน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ และยังนำมาใช้ในการลดไข้ และรักษาอาการอักเสบของตับและลำไส้อีกด้วย