สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มะตาด พืชผลบ้านนา

มะตาด เป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในโซนเอเชีย ได้แก่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย แต่เดิมนั้นคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีอาณาบริเวณบ้านกว้างขวางนิยมปลูกต้นมะตาดไว้กลางแจ้ง เพื่ออาศัยร่มเงาไว้ให้ความร่มเย็นแก่พื้นที่และบ้านเรือน เพราะมีทรงพุ่มที่หนาแน่น ใบมีลักษณะที่เด่นสะดุดตา และดอกที่มีเอกลักษณ์ นอกจากนี้เมื่อออกผลยังสามารถเด็ดมารับประทานผลสดรสเปรี้ยวๆ หวานๆ มันๆ กลิ่นหอมชวนน้ำลายสอ จิ้มพริกเกลือทานเล่น หรือนำมาจิ้มรับประทานกับน้ำพริก และประกอบอาหารเป็นเมนูต่างๆ เช่น แกงคั่วหรือแกงส้ม เป็นต้น

เนื้อไม้ที่ได้จากลำต้นสามารถนำมาใช้เป็นไม้แบบ ไม้แปรรูปเพื่อการก่อสร้างหรือนำมาประกอบเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น ทำด้ามปืน ด้ามขวาน และยังสามารถมาเผาทำเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มได้ เปลือกไม้และผลไม้มะตาดถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นสีย้อมเครื่องหนังแท้จากสัตว์และนำมาผลิตเป็นน้ำหมึกสีเข้ม ในประเทศเมียนมาร์ตอนล่างจะนำเปลือกด้านในผลที่มีเมือกมาชโลมทาใต้ท้องเรือเพื่อเพิ่มความเร็วให้แก่การเดินเรือ ลดแรงต้านของการเสียดทานระหว่างผิวน้ำและท้องเรือ นอกจากนั้นเมือกของเมล็ดและน้ำยางจากผลดิบยังสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมประเภทน้ำยาสระผม

มะตาดเป็นไม้ขนาดใหญ่ สกุลเดียวกันกับต้นส้าน ทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมักเรียกชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า ส้าน เช่น ส้านใหญ่ ส้านป้าว ส้านท่า ส้านกว้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่หมายถึงต้นมะตาดทั้งสิ้น ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่มีใบเขียวทั้งปี ความสูงของลำต้นปานกลางหรือสูงราว 15 เมตร มีทรงพุ่มที่หนาแน่น ขนาดใบที่ใหญ่และยาวถึง 35 เซนติเมตรทำให้ได้ร่มเงาครึ้ม ใบมีลวดลายของเส้นใบที่ชัดเจนสวยงาม ขณะที่ขอบใบจะมีหยักตรงรอยเส้นใบ แผ่นใบมีลอนบางๆ พลิ้วไปตามเส้นใบเช่นกัน บริเวณผิวใบด้านล่างจะมีขนอ่อนบ้างเล็กน้อย ดอกสีขาวครีมอ่อนมีกลิ่นหอมละมุน ให้ผลมนกลมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการอัดตัวของกาบเลือกผลสีเขียว ด้านในเปลือกมีเมือกข้นรสชาติฝาดและเปรี้ยว และยังพบเมือกปกคลุมเมล็ดไว้ตรงกลางของผล ทั้งนี้เนื้อผลไม้ที่ได้จากต้นมะตาดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดข้าวเจ้า ที่เนื้อผลจะมีกากใยสูง เนื้อสาก และ ชนิดข้าวเหนียวที่เนื้อผลนิ่มละมุนกว่า ทำให้ได้รับความนิยมในการนำไปประกอบอาหารและรับประทานมากกว่า

สำหรับวิธีการขยายพันธุ์นั้นจะใช้วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชุ่มชื้นและร่วนซุย ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงวันละ 4-5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เป็นไม้ที่ทนทานต่อโรคได้ดี นิยมปลูกในที่โล่งแจ้ง เพื่ออาศัยร่มเงา

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook