สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เครื่องอัดถ่าน เครื่องอัดเชื้อลดแรงงานคน

การทำถ่านอัดแท่งเพื่อใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มหากใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการผลิต จะทำให้การผลิตถ่านมีต้นทุนเรื่องเวลาและแรงงานลดน้อยลง และยังได้ถ่านที่มีคุณภาพ เพราะปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้งในแปลงเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในครัวเรือนและสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าและนำไปขายสร้างรายได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นถ่านจากไม้มะขาม ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สาคู ไม้ไผ่ และไม้อื่นๆ ซึ่งแต่ละไม้จะมีข้อดีแตกต่างกัน เช่น ความร้อนสูง ควันน้อย เป็นต้น

เครื่องอัดถ่าน ถือว่าเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่ลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปตัดไม้สดมาใช้ เราสามารถใช้เศษไม้ กะลามะพร้าว ฟางข้าว กากเหลือทิ้งต่างๆ ที่ผ่านการเผาไหม้มาบดเป็นผงก่อนที่จะนำมาอัดแท่งเพื่อใช้เป็นถ่าน วันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่อง เครื่องอัดถ่านแบบที่ไม่ใช้ความร้อน สำหรับเครื่องอัดเชื้อเพลิงเขียว (Green Charcoal) หรือที่เราเรียกกันว่าเครื่องอัดเย็น เครื่องจักรนี้ถูกประดิษฐ์ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้นำเศษซากใบไม้มาหมักด้วยจุลินทรีย์แล้วนำตัวประสานมาใช้ในการอัด กระบวนการทำงานของเครื่องประเภทนี้จะเป็นเครื่องอัดถ่านแบบสกรูหรือแบบเกลียวที่สามารถอัดวัสดุต่างๆ ทั้งวัสดุแห้งและสด นิยมนำมาใช้กับวัสดุเหลือทิ้งที่มีความชื้นระดับปานกลาง ยกตัวอย่างเช่น ชานอ้อยที่เหลือจากโรงงานผลิตน้ำตาล หรือผักตบชวา เป็นต้น กระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน ทำให้ใช้งานได้ง่าย เหมาะกับการผลิตเชื้อเพลิงหุงต้มไว้ใช้ในครัวเรือน ชุมชน และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก

ทั้งนี้วัสดุเหลือทิ้งที่จะนำไปอัดแท่งเป็นถ่านจะต้องถูกนำผ่านกระบวนการทำให้แห้ง เช่น ตากแดดบนลานกว้างราว 3 วัน หรืออบด้วยความร้อนต่างๆ เมื่อได้วัสดุที่ได้ผสมไว้กับตัวประสานแล้วให้ป้อนวัสดุเหล่านั้นลงในช่องรับวัสดุของเครื่อง แล้วปล่อยให้เครื่องอัดถ่านจนแล้วเสร็จก่อนที่จะปิดเครื่องและนำอุปกรณ์ต่างๆ มาทำความสะอาด และติดตั้งกลับอย่างถูกต้อง และควรมีการตรวจสอบน้ำมันหล่อลื่นและจาระบีเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่อง

เมื่อได้ถ่านอัดแท่งจากเครื่องแล้ว ควรจะตัดเชื้อเพลิงให้เป็นแท่งในขนาดที่พอเหมาะ เพื่อใช้งานได้ง่ายและสามารถบรรจุหีบห่อได้สะดวก บรรจุถ่านลงในถุงพลาสติกและปิดปากถึงให้สนิท ไม่ให้อากาศเข้าไปในหีบห่อเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและป้องกันความชื้น และควรเก็บรักษาเชื้อเพลิงไว้ในที่แห้งเท่านั้น เมื่อนำไปใช้หุงต้ม หากต้องการให้เชื้อเพลิงติดไฟเร็ว ควรนำไปจุ่มในแอลกอฮอล์จุดไฟราว 3 ท่อนถ่าน แล้วจุดไฟเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้นแล้วจึงใส่ถ่านที่เหลือตามปริมาณที่ต้องการใช้งานลงไป และเตาไฟที่นำมาใช้ต้องมีการระบายอากาศที่ดีด้วย เพียงนำเศษวัสดุเหลือมาผ่านเครื่องอัดถ่าน เราก็มีเชื้อเพลิงดีๆ ไว้ใช้ในการหุงต้มกันแล้ว

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook