สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สะเดาเทียม ไม้เศรษฐกิจเพื่อการแปรรูป

สะเดาเทียม ต้นไม้ที่สูงชะลูด เจริญเติบโตได้เร็ว มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย พบได้ตั้งแต่พื้นที่ ตอนบนของประเทศอินเดีย เรื่อยลงมายังเมียนม่าร์ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบางส่วนของฟิลิปปินส์ ในรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Daily Express ของ มาเลเซียลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2015 ระบุว่าไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่มีความสูงมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติ Tawau Hills Park ในรัฐซาบาห์ ทางตอนเหนือของบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย โดยมีความสูงถึง 88.3 เมตร ส่วนในประเทศไทยเรานั้นพบได้มากในป่าเต็งรังทางภาคใต้ของประเทศ

ต้นสะเดาเทียมเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ที่สามารถนำเนื้อไม้มาแปรรูปได้ เพราะมีลักษณะเนื้อไม้ที่ละเอียด แข็งแรงพอประมาณและแผ่นไม้ตรง ทำให้แมลงและปลวกไม่กัดกิน มีความทนทานต่อความชื้น เนื้อไม้มีสีอ่อน ทำให้สามารถย้อมสีไม้ให้ติดง่ายและทำได้หลายเฉด สามารถนำไปทำเป็นวงกบ หน้าต่าง ผนัง พื้นไม้ และโครงสร้างของเครื่องเรือนต่างๆ ได้ดีในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เรียกได้ว่าคนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ บางพื้นที่ยังปลูกไว้เพื่อใช้สร้างบ้านโดยเฉพาะอีกด้วย สำหรับจุดด้อยของไม้นี้ คือ เป็นไม้ที่ไม่ทนแดดทนฝน ดังนั้นจึงไม่เหมาะต่องานที่อยู่นอกอาคาร และสีของไม้แต่ละต้นจะมีสีที่ต่างกันมากพอสมควรทำให้เกิดสีที่ไม่เสมอกันได้ แต่ในประเทศไนจีเรียจะปลูกไม้ชนิดนี้เพื่อใช้เป็นไม้ฟืนเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยทำกันอย่างกว้างขวางในทางตอนบนของประเทศ ส่วนเปลือกและยางจากลำต้นนำไปใช้ในการย้อมผ้าและเชือกทอ

สะเดาเทียมเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงเต็มที่ได้ตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป มีขนาดลำต้นใหญ่ สูงชะลูด ตรง  แตกกิ่งที่ปลายยอด ออกดอกสีขาวอมเขียวเป็นกระจุกที่ซอกใบ มีผลสีเหลืองรูปทรงรียาวคล้ายไข่ เนื้อในผลมีกลิ่นฉุน กลางผลมีเมล็ดเดี่ยว หากจะต้องการนำไปเพาะขยายพันธุ์ควรต้องแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนให้เปลือกของผลที่หนามากอุ้มน้ำไว้เต็มที่ ก่อนที่จะใช้มือบี้ให้เปลือกหลุดร่อนออก และนำเนื้อออก ก่อนที่จะนำเมล็ดไปตากลมให้แห้งในที่ร่ม รอราว 1 สัปดาห์เมล็ดจึงจะเริ่มงอก ให้รีบย้ายลงไปเพาะในถุงดำที่บรรจุดินร่วนปนทรายและปรุงด้วยปุ๋ยคอกไว้ ใช้เวลาราว 1 ปี จึงย้ายลงปลูกในดินดีที่ระบายน้ำได้ดีและมีดินโปร่ง อย่างไรก็ตามหากจะปลูกเพื่อหวังผลเชิงการค้าเพื่อแปรรูปนั้น กว่าจะตัดไม้ได้อาจจะต้องใช้เวลาร่วม 7-8 ปีเป็นอย่างน้อย จึงควรปลูกพืชอื่นผสมหรือปลูกแซมด้วย เพื่อก่อให้เกิดรายได้ระหว่างรอ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมปลูกร่วมกับพืชผลอื่นๆ เช่น ยางพารา ไม้ผล และปลูกเพื่อเป็นไม้กันลมและเพื่อได้ร่มเงาไปในตัว

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook