สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ว่านลูกไก่ทอง ไม้มงคลไก่นำโชค

ว่านลูกไก่ทอง หรือ คือพืชประเภทเฟิร์นชนิดหนึ่ง ที่เป็นว่านกายสิทธิ์มหามงคลที่มีความเชื่อกันมายาวนานว่า เมื่อปลูกไว้ในบ้านเรือนอาคารเคหะสถานใด จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้นพ้นภัยได้ และหากต้นว่านนี้เจริญงอกงามและในยามกลางคืนมีคนในบ้านได้ยินเสียงไก่ดังขึ้นมาเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดี บ่งบอกถึงโชคลาภและทรัพย์ใหญ่ที่จะมาเยือนแก่สมาชิกในบ้าน ชื่อภาษาอังกฤษ หรือชื่อสามัญ คือ golden chicken fern ที่แปลว่า เฟิร์นไก่สีทอง และ woolly fern ที่แปลว่า เฟิร์นขนสัตว์ แต่ในบ้านเรานั้นมีชื่อเรียกทั่วไป คือ ว่านไก่น้อย อีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกัน ส่วนแต่ละพื้นที่ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น แถบจังหวัดเลยจะเรียกว่า ต้นขนไก่น้อย ภาคใต้เรียก หัสแดง นิลโพสี และกูดเสือโพลี เป็นต้น

แม้ว่าคนส่วนใหญ่ จะนิยมปลูกว่านล๔กไก่ทองเป็นไม้ประดับที่มีความโดดเด่นด้านสีสัน ที่มีสีทองเปล่งประกายงดงาม โดดเด่น มองเห็นได้แต่ไกล และปลูกเป็นไม้มงคลเสริมโชคเสริมลาภเสริมทรัพย์สำหรับสายมูเตลู แต่ต้นว่านนี้มีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะใบว่านที่แก่ได้ที่แต่ก่อนเขานำไปใช้เป็นสีย้อมได้ และสรรพคุณด้านสมุนไพรก็มีไม่น้อย เพราะสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวและนำไปเข้าตำรับกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น นำไปเข้าตำรับเป็นยาบำรุงกระดูก แก้อาการตกขาวในสตรี แก้ปวดหลังปวดเอว คลายกล้ามเนื้อ ส่วนสมุนไพรเดี่ยวนั้นจะใช้เหง้าของว่าน เพื่อเป็นยาขับพยาธิ แก้ท้องผูก รักษาอาการปวดเมื่อย เป็นต้น แต่การใช้นั้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์พื้นบ้านที่ชำนาญเสมอ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในเชิงลบแก่ร่างกาย

ลักษณะพฤกษศาตร์ของว่านลูกไก่ทองที่เป็นพืชประเภทเฟิร์นดินที่ขึ้นตามป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้น บริเวณใต้ต้นไม้ที่มีซากใบไม้ทับถมผุพัง พบมากในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์และไทย ความสูงของต้นราว 2-3 เมตร เหง้าอวบแข็งดั่งไม้ มีขนที่นุ่มและยาวสีทองมันวาวมีประกายปกคลุมไว้มองผิวเผินคล้ายดังลูกไก่ แตกใบรอบบริเวณเหง้าจำนวนมาก โคนก้านใบมีขนอ่อนปกคลุม ใบเป็นใบแบบขนนกแบบหลายชั้น ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าและการเพาะสปอร์ เมื่อแยกเหง้าแล้วให้นำไปปลูกในดินร่วนปนทรายผสมกับใบไม้แห้งที่มีความชุ่มชื้น วางไว้ในที่ร่ม ส่วนการให้น้ำนั้นควรให้พอชุ่มก็เพียงพอแล้ว หากปลูกเป็นไม้กระถาง ควรหาก้อนกรวดมาวางระหว่างกระถางและจานรองกระถางเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง เพราะจะทำให้ว่านตายได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook