สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักเหนาะหรือผักเกล็ด ศิลปะแห่งการรับประทานอาหาร

เอ่ยว่าผักเหนาะหรือผักเกล็ด คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าคือชื่อของผัก แต่อันที่จริงแล้ว เป็นคำเรียกแบบรวมๆ สำหรับผักต่างๆ ที่นำมารับประทานแนมหรือเคียงกับเมนูอาหารอื่นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า ผักข้างจาน โดยเฉพาะกับอาหารรสจัด เป็นศิลปะในการนำผักเหล่านั้นมาตัดรสชาติจัดของอาหาร เช่น น้ำพริก ที่มีรสเผ็ด หรือหลนที่อาจจะมีรสชาติมันหวาน หรือนำมาคลุกในขนมจีน เพื่อให้ได้รสชาติอาหารเพิ่มขึ้น แถมด้วยได้คุณค่าของสารอาหารและสรรพคุณทางสมุนไพรของผักเหล่านั้นเพิ่มเติมไปเมนูต่างๆ ด้วย โดยทั่วไปแถบนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง มักจะเรียกว่าผักเหนาะ ผักน่อ หรือ ผักหนอก ส่วนจังหวัดภูเก็ตจะเรียกว่า ผักเกล็ด

คำว่าเกล็ดเป็นภาษาพื้นถิ่นของทางภาคใต้ที่มีความหมายว่า การกัดเพื่อรับประทานทีละเล็กละน้อย  และนำมารับประทานเคียงหรือเหนาะกับน้ำพริก จึงถูกเรียกกันว่า ผักเหนาะหรือผักเกล็ด คนภาคอื่นๆ อาจจะคุ้นชินกับผักเหนาะที่มักจะเคียงมากับขนมจีนน้ำยาใต้ เช่น แตงกวา ยอดกระถิน ใบแมงลัก ลูกเนียง มะเขือเปราะ ใบมันปู ปลีกล้วย สะตอ ลูกเหรียง เป็นต้น และยังมีผักดองอย่าง ผักบุ้ง สะตอ ผักหนาม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกระบวนการนำไปลวกกะทิเพื่อให้รสชาติเข้มข้นอีกด้วย นับว่าเป็นศิลปะการรับประทานอาหารพื้นบ้านที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นการส่งเสริมให้รับประทานผักและสมุนไพรใกล้ตัวที่หาง่ายและส่วนใหญ่เป็นผักพื้นถิ่นทั้งสิ้น

ด้วยความที่ทางภาคใต้ของไทยเรามีฝนตกชุก ทำให้พืชผักตามธรรมชาติหารับประทานได้ไม่ยากนัก และผักแต่ละชนิดก็มีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป จนทำให้เมนูอาหารทางภาคใต้ส่วนใหญ่ จะมีผักเหนาะหรือผักเกล็ดวางเคียงไว้จำนวนมากและมีตัวเลือกของผักให้เลือกรับประทานกันได้เต็มที่  โดยมีทั้งผักที่รสและกลิ่นหลากหลาย เช่น ลูกเนียงอ่อน กาหยู ฉิ่ง ยอดจิก กล้วยดิบ ที่มีรสชาติฝาด หรือผักรสหวานอย่าง เห็ด ย่านาง ผักกาด ใบเหมียง ผักหวาน ผักรสชม อย่างสะเดา ขี้เหล็ก ฝักเพกา รวมทั้งผักที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และมีรสเผ็ดร้อน อย่างใบแมงลัก ใบโหระพา หระชาย ขมิ้น สาระแหน่ และยังมีผักที่มีรสชาติมันโดดเด่น อย่างฟักทอง ลูกเนียงและสะตอ ทำให้เกิดความหลากหลายของรสชาติในการรับประทาน

ดังที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ผักเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และสารอาหารสำคัญ โดยผักแต่ละชนิดก็จะมีคุณค่าต่างๆ แตกต่างกันไป และยิ่งเป็นผักพื้นบ้านที่หาได้ตามธรรมชาติ มักจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีต่ำ หรืออาจไม่มีเลย แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพเราควรนำผักเหล่านั้นมาล้างทำความสะอาด ก่อนที่จะรับประทานเสมอนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook