ปลาหางนกยูง ปลาสวยงามที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเพราะมีราคาที่จับต้องได้ เลี้ยงเองได้ไม่ยุ่งยาก จัดว่าเป็นปลาที่มีชีวิตชีวามากเพราะชอบว่ายน้ำไม่หยุดนิ่ง มีทั้งเลี้ยงในบ่อคอนกรีต อ่างบัว และในตู้เลี้ยงปลาแบบกระจกใส แต่เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอบอุ่นในทวีปอเมริกาใต้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยตามธรรมชาติที่มีน้ำนิ่งหรือน้ำที่มีกระแสการไหลช้ามาก อยู่ได้ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำหรือน้ำที่เน่าเสีย ทำให้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมยุงลายที่มักวางไข่ในน้ำนิ่ง น้ำขัง ในแหล่งต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย
ด้วยความสวยงามของปลานกหางยูง ทำให้เกิดความนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงามนอกเหนือจากการกำจัดยุงลาย และเกิดการพัฒนามาเป็นปลาสวยงามขนาดเล็กที่ติดตลาดไปแล้ว จุดเด่นที่สุดคือหางที่มีความแตกต่างกันในปลาแต่ละตัว ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดโตเต็มที่ที่ใหญ่กว่า คือประมาณ 5-7 เซนติเมตรและอ้วนกว่าตัวผู้ ลักษณะลำตัวปลาเพศผู้จะมีลำตัวที่เพรียวยาวและเล็ก ส่วนตัวเมียจะอ้วนใหญ่ ปลาเพศผู้จะมีความโดดเด่นในเรื่องของครีบหางที่มีความยาวมากและมีสีสันสวยสด
ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้เร็วในทุกฤดู ให้ลูกได้ตั้งแต่ 30-90 ตัวต่อครอก ใช้เวลาเพียง 8-12 สัปดาห์ปลาก็จะโตเต็มที่ เป็นปลาที่มีความทนทานสูงไม่ค่อยเป็นโรค ขอเพียงแค่หมั่นถ่ายน้ำให้น้ำในบ่อเลี้ยงสะอาดจะทำให้ป้องกันโรคและยังกระตุ้นให้เกิดการแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย สำหรับอาหารปลานั้นสามารถใช้อาหารปลาทั่วไปได้ตามปกติวันละ 2 มื้อ ส่วนเพื่อนๆ เกษตรกรที่เลี้ยงเป็นฟาร์มอาจจะใช้อาหารเม็ดปลาดุกแทน เพราะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้และปลาได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย
สำหรับข้อควรระวังในการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงสำหรับเกษตรกร คือ ต้องมีการแยกเพาะพันธุ์ เพราะหากปล่อยให้แม่ปลาออกลูกในบ่อเลี้ยงเดิม จะทำให้ปลามีอัตราการรอดต่ำเพราะจะถูกพ่อแม่พันธุ์อื่นๆ ไล่กัดกินจนหมด โดยให้ทำการแยกปลาแต่ละคู่ ลงในบ่อเล็กขนาด 12นิ้ว*12นิ้ว ที่มีการนำพรรณไม้น้ำไปประดับไว้เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ลูกปลาอาศัยซ่อนตัวจากแม่พันธุ์ที่จะกัดกินลูกปลา แล้วจึงคัดแยกลูกปลาออกไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลต่อไป วิธีการนี้จะทำให้เราสามารถเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นมาไว้ในบ่อเล็ก เพื่อให้ผสมกันจนได้ลูกปลาที่สวยงาม