ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่ของโลก เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลสับปะรดแล้ว จะเหลือใบสับปะรดซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากไร่สับปะรดจำนวนมาก ทั้งนี้ในใบสับปะรดใบสดจะมีเส้นใยเซลลูโลสซึ่งสามารถนำแปรรูปเป็นสิ่งทอเทคนิคและบรรจุภัณฑ์ได้หลายประเภท โดยจะต้องนำใบสับปะรดสดมาผ่านกระบวนการขูดเส้นใยเพื่อให้ได้เส้นใยส่งต่อไปยังโรงงานผลิตเส้นใยเพื่อนำไปใช้ในสิ่งทอต่อไป โดยกลุ่มแปรรูปเส้นใยธรรมชำติ ของนายสมชาย อุไกรหงสา อ.บ้านคา จ. ราชบุรี ได้ทดสอบใช้เครื่องแปรรูปใบสับปะรดที่ยังต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือในการป้อนวัตถุดิบ ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตเส้นใยที่สูง
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “นวัตกรรมการผลิตเส้นใยและการใช้ประโยชน์เศษเหลือทิ้งจากใบสับปะรดอย่างครบวงจร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคและบรรจุภัณฑ์” โดยมี ดร.รังสิมา ชลคุป สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาระบบต้นแบบเครื่องขูดใบสับปะรดแบบอัตโนมัติ ที่มีราคาจับต้องได้ และเหมาะกับชุมชนเกษตรกรที่สามารถผลิตเส้นใยได้ตามพื้นที่ปลูกสับปะรด เพื่อผลิตเส้นใยในปริมาณที่เพียงพอที่ส่งไปยังโรงงานได้ รวมทั้งการพัฒนาใช้เครื่องสลัดเส้นใยเพื่อให้ได้คุณภาพเส้นใยที่สะอาดดีกว่าเครื่องขูดเส้นใยแบบมือในปัจจุบัน พร้อมหาข้อมูลประสิทธิภาพระบบต้นแบบดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการใช้ประโยชน์เส้นใยสับปะรดเป็นผลิตภัณฑ์ดูดซับเสียงและฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร และศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากเส้นใยสับปะรด เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด ตลอดจนประยุกต์ใช้กรรมวิธีการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากเส้นใยใบสับปะรด เพื่อการผลิตภาชนะบรรจุ โดยเน้นไปที่ความสามารถในการกันน้ำ ความสามารถในการกันน้ำมัน และการย่อยสลายทางชีวภาพ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากองค์ความรู้ที่ได้รับในโครงการปีที่ 1 พร้อมทั้งศึกษารวบรวมลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเส้นใยใบสับปะรด วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเส้นใยสับปะรดและกากเศษเหลือจากการขูดเส้นใยใบสับปะรดสำหรับพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ต่อไป
งานวิจัยนี้ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบการขูดเส้นใยจากใบสับปะรดแบบอัตโนมัติพร้อมชุดกำจัดเปลือกที่ติดที่ผิวเส้นใยใย ที่พัฒนาให้เหมาะกับกลุ่มชุมชนสำหรับพื้นที่ปลูกสับปะรด ทำให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมสำหรับเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับรองรับอุตสาหกรรมเส้นใยธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระดาษพิเศษจากเศษเหลือทิ้งจากการขูดใบสับปะรดสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเส้นใย กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด และกลุ่มผลิตกระดาษ ซึ่งองค์ความรู้จากงานวิจัยโครงการนี้สามารถพัฒนาวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรที่มีปริมาณสูงมาใช้ประโยชน์และเกิดมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพิ่มรายได้มากขึ้น ลดการนำเข้าสิ่งทอเทคนิคและบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศได้