สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นมะลิ ผู้สร้างดอกจิ๋วมูลค่าสูง

ต้นมะลิ เป็นพืชสวนที่ผลิตดอกไม้เศรษฐกิจที่มีดอกไซส์ขนาดเล็กแต่มูลค่าเม็ดเงินสูง ดอกไม้กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ละมุน มีกลีบดอกสีขาวสะอาดตามีนัยยะถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง จนผู้คนนิยมนำไปใช้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเด็ดมาวางบนพานถวายบูชาพระ จัดทำเป็นมาลัยพวงเพื่อมอบให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรานับถือ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติของไทยเรา ที่ลูกๆ มักนำไปมอบให้แก่แม่หรือบุพการีทั้งหลายเพื่อแทนคำบอกรักและแสดงความกตเวที นำมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอในเทศกาลงานบุญต่างๆนอกจากนั้นดอกมะลิยังถูกนำมาใช้ในการให้กลิ่นหอมสำหรับขนมไทยทั้งขนมประเภทขนมอบและขนมน้ำกะทิอีกด้วย ซึ่งแต่ก่อนเราจะพบว่ามีลอดช่องสิงคโปร์ที่มีดอกมะลิมาลอยหน้า ให้ความหอมชื่นใจยิ่งนัก

ส่วนต่างๆ ของต้นมะลิต่างๆ ยังสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรแตกต่างกันไป เช่น รากไม้ของมะลิวัลย์นำมาล้างให้สะอาดและฝนรักษาอาการร้อนใน อาการจุกแน่นท้อง ดอกมะลิซ้อนแห้งนำมาโขลกรักษาแผลอักเสบบริเวณผิวหนังได้ เป็นต้น เป็นการนำประโยชน์ของไม้ดอกในบ้านมาใช้อย่างครอบคลุมหลายด้านของภูมิปัญญาโบราณ และด้วยประโยชน์ที่หลากหลายและพื้นที่เพาะปลูกในชุมชนเมืองลดน้อยลง ทำให้ตลาดมีความต้องการมะลิมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสทองของการปลูกต้นมะลิในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน ยิ่งใครบังคับให้ได้ผลผลิตในช่วงหน้าหนาวได้เยอะ ก็ยิ่งมองเห็นกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ และยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น อาชีพรับร้อยมาลัยมะลิ และเด็กขายพวงมาลัย เป็นต้น และที่น่าสนใจมาก คือ การผลิตเพื่อส่งออก เพราะไม่ใช่แค่พวงมาลัยสดหรือดอกมะลิสดเท่านั้นที่มีตลาดต้องการแต่ ต้นมะลิสด ก็ยังมีตลาดต้องการเช่นกัน

แม้ว่าจะมีต้นมะลิราว 40-50 ชนิดในบ้านเรา ยกตัวอย่างเช่น มะลิซ้อน มะลิฉัตร มะลิวัลย์ มะลิเลื้อย ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะสัณฐานของดอกแตกต่างกัน แต่ว่า “มะลิลา” เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเป็นชนิดที่มักนำมาปลูกเพื่อการพาณิชย์เป็นอย่างมาก วิธีการปลูกนั้นส่วนใหญ่จะใช้การตอนกิ่งและการปักชำ  มากกว่าการแยกกอ ควรปลูกในร่วน ที่มีความชื้นพอเหมาะแต่ต้องมีความโปร่งของดินเพื่อให้เกิดการระบายอากาศและน้ำได้ดี เพราะหากเกิดน้ำขังต้นไม้อาจจะเกิดโรครากเน่า ชะงักการเติบโตและตายลง การบำรุงควรบำรุงด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุก 2 เดือน ครั้งละ 0.5- 1 กิโลกรัมต่อต้น และหมั่นตัดแต่งกิ่งใบให้แสงส่องได้อย่างทั่วถึง และลดความเสี่ยงเรื่องแมลงศัตรูพืชอย่างหนอนเจาะดอกและโรคพืชได้ หากใส่ใจเต็มที่ เราจะได้ผลผลิตดอกจิ๋วมากมูลค่านี้กลายเป็นสินค้านำออกชั้นเยี่ยมในตลาดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook