สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

มุ้งปลูกผัก กับการปลูกผักกางมุ้ง

มุ้งปลูกผัก ที่เราอาจจะเรียกชื่อกันหลากหลายตามหน้างานที่เรานำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นมุ้งขาว มุ้งกันแมลง มุ้งโรงเรือน มุ้งคอกม้า หรือจะเรียกตามลักษณะของวัสดุที่นำมาผลิตเช่น มุ้งไนล่อน เป็นต้น ทั้งนี้การนำมุ้งมาใช้ประโยชน์ในการปลูกผักหรือทำการเกษตรนั้นมีมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในประเทศเขตเมืองหนาว ที่มีสภาพแวดล้อมมาเอื้อต่อการปลูกพืชบางชนิด จึงได้สร้างโรงเรือนขึ้นมาเพื่อควบคุมอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อม โดยมักจะก่อสร้างและมุงด้วยวัสดุที่แสงผ่านได้ ส่วนในประเทศไทยเราที่เป็นเมืองร้อน มักนิยมนำมุ้งมาใช้เป็นวัสดุล้อมโรงเรือน เพื่อเป็นการกันแมลงศัตรูพืช มีราคาไม่แพงและไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างที่ยุ่งยากและขนาดใหญ่ ทำให้ประหยัดในเรื่อการก่อสร้างโรงเรือนได้ดี

การปลูกผักในมุ้งนั้น ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนเรื่องโครงสร้างของโรงเรือน รวมไปถึงการเลือกตาข่ายที่มีความเหมาะสมกับพืชผักที่เราทำการปลูก โดยเราจะเลือกจากความถี่ของตาข่าย การเลือกเอาแบบตาถี่มากๆ มาใช้ แม้ว่าจะกันแมลงได้หลากชนิดกว่า แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ จะทำให้ความร้อนในโรงเรือนหรือภายในมุ้งนั้นระบายยาก ทำให้มีความร้อนสูงมากเกินไปจนผักหรือพืชได้รับความเสียหายได้ โดยทั่วไปแล้วจำนวนตาของมุ้งปลูกผักที่ขายกันในท้องตลาดบ้านเรา จะมีแบบ 16ตา-20ตา-32 ตา 40 ตา และ 50 ตา มีขนาดหน้ากว้าง ตั้งแต่ 2.5 – 3.6 เมตร และมีความยาวต่อม้วนตั้งแต่ 30 เมตรไปจนถึง 100 เมตร ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของเกษตรกร สำหรับชาวสวนที่ปลูกผัก มักจะลือกใช้ตาข่ายที่มีความถี่ 16 หรือ 20 ตา เน้นกันแมลงขนาดใหญ่ และให้เกิดการระบายอากาส เพราะผักส่วนใหญ่ชอบความชุ่มชื้นสูงและไม่ทนต่ออากาศร้อนมากนัก แต่หากเป็นผู้ปลูกแตงเมล่อนจะเน้นตาข่ายที่มีตาถี่มากถึง 40 ตา เพื่อช่วยกันแมลงศัตรูพืชได้มากขึ้น

ความถี่ของจำนวนตาของมุ้งปลูกผักนั้นจะนับเฉพาะจำนวนตาของตาข่ายต่อจำนวนตารางนิ้ว เช่น มุ้ง 20 ตา จะมีจำนวนเส้นแนวตั้ง 20 เส้น ตัดกับเส้นแนวนอน 20 เส้น ทำให้เกิดจำนวนตาราง 20 ตารางต่อ 1 ตารางนิ้ว ส่วนมุ้ง 50 ตาก็จะมีจำนวนตา 50 ตาในพื้นที่ขนาด 1 นิ้ว คูณ 1 นิ้ว นั่นเอง การปลูกผักกางมุ้งนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรที่มุ่งเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะมีต้นทุนแรกเริ่ม ในการสร้างโรงเรือนและค่าวัสดุต่างๆ แต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการกำจัดแมลงศัตรูพืชลงได้มาก และเมื่อเราไม่ใช้สารเคมีสิ่งที่ตามมาคือ ความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและยังไม่มีสารพิษตกค้างบนผลผลิตที่จะนำส่งไปยังผู้บริโภคด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook