สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ลำไยพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบมากในประเทศไทยเรา

ลำไย ผลไม้ที่คนจีนต่างขนานนามว่า นัยน์ตามังกร ไม่ว่าจะพันธุ์ไหน ๆ ก็มีลักษณะที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ แต่หากจะกล่าวถึงพันธุ์ที่เพื่อนๆ เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ แถบจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย ก็คือลำไยพันธุ์ดอ และตามมาด้วยพันธุ์สีชมพู เบี้ยวเขียว แห้ว และ พวงทอง เรียกได้ว่ามีความหลากหลายให้เลือกซื้อหากันได้ตามความชอบ

พันธุ์ลำไยดอหรือแต่เดิมเรียกกันว่าอีดอนั้น เป็นพันธุ์ที่มีตลาดต่างประเทศรองรับอยู่มาก และมีข้อได้เปรียบที่เป็นพันธุ์ที่ใด้ผลผลิตเร็วหรือที่เราเรียกกันว่าพันธุ์เบา ทำให้ส่งเข้าตลาดได้เร็วและได้ราคาดี ผลมีลักษณะทรงสวยกลมแป้นเล็กน้อย เนื้อผลสีขาวเนื้อเหนียวละเอียด เมล็ดขนาดพอดี เหมาะแก่การรรับประทานผลสดและยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งและผลไม้กระป๋องได้

ส่วนคนที่นิยมรับประทานลำไยที่หวานกรอบนั้น คงชื่นชอบลำไยพันธุ์สีชมพูที่มีเนื้อสีขาวใสปนชมพู แตกต่างจากพันธุ์อื่น ๆ มีเนื้อผลที่หหนาและกรอบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ยิ่งแก่เนื้อจะยิ่งหนา เมล็ดแบนลีบเล็ก เนื้อล่อนจากเมล็ด แม้ว่าผลไม่ใหญ่นักแต่ได้รับประทานเนื้อเต็มๆ แต่มักจะให้ผลผลิตไม่มาก พราะเป็นพันธุ์ที่ไม่แล้ง แม้ว่าจะติดดอกไม่ยากแต่กลับไม่ค่อยติดผลนัก จึงหารับประทานได้ไม่มากนักและไม่นิยมปลูกเพื่อการส่งออก ส่วนพันธุ์ที่หารับประทานได้ไม่มากนักอีกพันธุ์คือพันธุ์เบี้ยวเขียว ที่มักจะให้ผลผลิตช้าและน้อยกว่าพันธุ์อื่นๆ และในบางปีไม่ติดผลเลย แต่เป็นพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับว่าเนื้อผลมีคุณภาพดีมาก

ลำไยที่ให้ผลผลิตช้าอีกพันธุ์คือ พันธุ์แห้ว ที่ถูกแบ่งเป็น แห้วยอดแดงกับแห้วยอดเขียวตามสีของยอดใบอ่อน โดยยอดเขียวจะออกดอกช้ากว่ายอดแดง และเนื้อในผลของแห้วยอดเขียวจะมีสีขาวขุ่นกว่ายอดแดง ส่วนเนื้อผลนั้นจะมีเนื้อที่กรอบ หนา เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ หอมหวาน เมล็ดเล็กลีบ ส่วนพันธุ์พวงทองเป็นพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากพันธุ์ดอ มีเนื้อสีขาว เนื้อหนาเมล็ดลีบ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่โด่งดังในแถบบ้านแพ้ว ราชบุรี

นอกจากนี้ ลำไยพันธุ์ต่างๆ ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งทำเป็นลำไยกวนปรุงรสพร้อมรับประทาน ลำไยแช่อิ่ม ลำไยกระป๋อง ลำไยเคลือบน้ำตาล ลำไยแห้งเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต น้ำลำไยหรือ ขนมต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเนื้อผลลำไยไปผลิตเป็นลำไยผง ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าได้อย่างดี เพราะสามารถนำไปใช้แทนลำไยอบแห้งในการใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารและเครื่องดื่ม มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่าแบบอบแห้ง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook