ต้นไม้ชนิดนี้อาจจะทำให้เราระลึกถึงการพึ่งพิงผู้อื่นมากจนเกินไป จนทำให้คิดว่าเป็นพรรณไม้ที่ไร้ค่า แต่อันที่จริงแล้วนั้นมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากกาฝากไม่น้อยเลย ทั้งในแง่ของการนำมาใช้เป็นสมุนไพรและนำมาใช้เป็นที่พึ่งทางใจเพราะเป็นไม้ที่อยู่กับความเชื่อของคนโบราณมานาน ถือว่าเป็นไม้ที่เป็นมงคล ตามชื่อของกาฝากแต่ละชนิด เช่น กาฝากมะขาม ที่จะทำให้คนเกิดความเกรงขาม เป็นต้นคนโบราณจะพกกาฝากขนาดเล็กติดตัว ซึ่งนับว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ เอามาเล่าสู่กันฟังให้พอได้ทราบว่าเป็นอย่างไร
ในประเทศไทยพบกาฝากที่เบียนกับกิ่งไม้และต้นไม้ มากกว่า 90 ชนิด 3 สกุล ได้แก่ วงศ์ผักบุ้ง จำนวน 4 ชนิด เช่น ฝอยทอง, วงศ์อบเชย 1 ชนิด คือ สังวาลพระอินทร์ วงศ์กาฝาก 42 ชนิด และ วงศ์ย่านตีเมีย 22 ชนิด ทำให้พบลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่มีความหลากหลายตามสายพันธุ์และชนิด บางชนิดมีลำต้นที่มีลักษณะเป็นปล้อง บางชนิดมีลักษณะการเจริญคล้ายไม้ยืนต้นคือมีกิ่งก้านสาขาทั่วไป และยังมีบางชนิดที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม้ประดับ เพราะมีลักษณะของดอก ใบ หรือ ผล ที่งดงาม รากของต้นกาฝากจะเกาะยึดกับต้นไม้ใหญ่ จัดเป็นรากเบียน ที่แทงตัวลงไปในไม้หลักเพื่ออาศัยอาหารและแร่ธาตุผ่านท่อน้ำเลี้ยงในการเจริญเติบโตต่อไป โดยทั่วไปจะมีลำต้นขนาดความยาวไม่เกิน 100 เซนติเมตร มีใบเดี่ยวสีเขียว ลักษณะรูปรางรีคล้ายไข่ ผลิดอกขนาดเล็กเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกมีสีเหลืองหรือส้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลเป็นทรงไข่ รสชาติหวาน มักเป็นอาหารของนก นอกจากนี้ยังมีพืชที่เป็นกลุ่มเดียวกับกาฝากแต่ไม่ได้เบียนกิ่งหรือลำต้น แต่กลับเบียนที่รากของต้นไม้ ซึ่งในบ้านเราพบราว 19 ชนิด แต่มักไม่มีชื่อเรียกว่ากาฝาก ได้แก่ พืชในวงศ์กระโถนฤาษี ดอกดิน และขนุนดิน อีกด้วย
การขยายพันธุ์กาฝากเพื่อใช้เป็นไม้ประดับนั้น สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ดที่ได้จากผลสุกเต็มที่ นำไปฝังไว้บริเวณเปลือกไม้ของต้นไม้ใหญ่ชนิดเดียวกันกับต้นแม่พันธุ์กาฝากที่เราเก็บเมล็ดมา เช่น เก็บเมล็ดมาจากผลของกาฝากที่เบียนต้นขนุน ก็ให้นำเมล็ดนั้นไปเพาะด้วยการฝังที่เปลือกต้นขนุน เพื่อให้มีโอกาสรอดและเจริญดี โดยให้เลือกปลูกในบริเวณที่รับแสงแดดได้ดีเพื่อกระตุ้นให้กาฝากเติบโตได้เร็วและแข็งแรงยิ่งขึ้น แต่หากไม่มีต้นไม้ใหญ่ชนิดเดียวกันกับต้นแม่พันธุ์ ให้เลือกใช้ต้นไม้ใหญ่ที่มีผิวของลำต้นลักษณะคล้ายคลึงกับต้นแม่พันธุ์ จึงจะช่วยให้เพิ่มอัตราการรอดมากขึ้น