ต้นรัง ต้นไม้ที่เรามักจะคุ้นชินได้ยินได้ฟังว่าอยู่คู่กับต้นเต็ง เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน โดยต นรังจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis Miq. ส่วนต้นเต็งจะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea obtusa Wall. ลักษณะของลำต้นและส่วนต่างๆ จึงคล้ายคลึงกันมาก ไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนม่าร์ ลาว เขมร เวียดนาม และไทย แต่พบได้มากที่สุดในไทยจึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับประเทศไทยด้วย ในบ้านเรานั้น ต้นรังจะสามารถเติบโตได้แทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นในป่ามีดินลูกรัง ที่ไม่ค่อยจะมมีต้นไม้หนาแน่นนัก มักจะเป็นป่าที่เต็มไปด้วยไม้พุ่มและหญ้ารก ที่มักจะกลายเป็นต้นเพลิงไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง แต่พรรณไม้ยืนต้นในป่าเหล่านั้นก็มีความทนทานผ่านมาได้หลายแล้งทีเดียว จนได้ชื่อว่าไม้เต็งไม้รังเป็นไม้ที่ทนทานมาก
แต่เดิมนั้นต้นรังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการนำมาแปรรูปทำไม้ในงานก่อสร้างบ้านเรือน โดยนิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลัก เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทาน รับน้ำหนักได้เยอะ เช่น นำมาทำเป็นเสาเรือน คานเรือน และไม้พื้นบริเวณชานบ้านที่โล่งแจ้งเพราะทนแดดทนฝน ไม้หมอนรถไฟที่คงทนทั้งหลายมักจะทำมาจากไม้รังเช่นกัน นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นด้ามจอบ ด้ามเสียม ทำเกวียน ทำสะพาน เป็นต้น ส่วนของน้ำยางหรือชันยางนำมาใช้เป็นยาแนวและน้ำมันขัดเงาไม้
ต้นรังเป็นต้นไม้ที่มีขนาดความสูงประมาณ 10-20 เมตร ทรงพุ่มเป็นทรงฉัตรและทรงกลมที่โปร่ง ลำต้นไม่ได้ตรงชะลูดเท่าใด กิ่งไม้คดบ้าง เปลือกไม้ที่หุ้มลำต้นมีสีเทาปนน้ำตาล เปลือกหนากร้านแตกเป็นรอยแยกชัดเจนตามแนวยาวของลำต้น หลุดล่อนเป็นสะเก็ด ด้านในของเปลือกไม้มีสีน้ำตาลแดงและมีน้ำยางสีขาวขุ่นปนจนถึงเหลืองแก่ แตกใบรูปไข่โคนใบเว้าคล้ายใบโพธิ์ ขอบใบเรียบอาจมีคลื่นบ้าง ผิวใบเรียบเนียน ท้องใบมีขนอ่อนๆ เล็กน้อย ใบรังเมื่อแรกผลิจะมีสีแดงและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองช่วงฤดูแล้งแล้วทิ้งใบอย่างง่ายดายจนหมดต้น หลังจากนั้นจึงเริ่มมีดอกที่เด่นสง่าบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะดอกคล้ายดั่งใบกังหัน สีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมละมุน ดอกเปราะบางหลุดร่วงง่าย ให้ผลขนาดเล็ก มีปีกตามแนวยาวของผลจำนวน 3 ปีก เมื่อผลแก่เต็มที่ขณะที่ผลหลุดร่วงจากต้น ปีกผลจะเป็นแรงส่งให้ผลลอยไปในอากาศได้ไกลขึ้น เกิดการเพาะพันธุ์ได้ในพื้นที่กว้างมากขึ้น ทั้งนี้หากจะนำเมล็ดของต้นรังไปขยายพันธุ์จะต้องทำการเด็ดปีกก่อนเสมอ