สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สะเดามันทวาย ขมน้อย ตลาดชอบ

สะเดามันทวาย เป็นสะเดาที่มีรสขมน้อยมาก มีความอร่อย มัน โดดเด่น ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สะเดา เป็นผักสมุนไพรที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารและเป็นการรักษาโรคไปในตัว โดยนำมายอดสะเดาอ่อนมารับประทานทั้งแบบสดและแบบลวก คู่กับน้ำพริก น้ำปลาหวาน ลาบหรือจะนำมาปรุงอาหารเป็นเมนู ยำรสจัดต่างๆ ทั้งเพิ่มรสชาติและดีต่อสุขภาพ ยิ่งเป็นสะเดามันทวายที่ไม่ขมปี๋ ยิ่งทำให้ตลาดต้องการมาก จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เพื่อนๆ เกษตรกรหลายรายให้ความสนใจ เพราะนอกจากมีตลาดแล้ว ยังเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปีไม่เกี่ยงฤดู สามารถออกดอกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง ในขณะที่พันธุ์อื่นๆ จะให้ผลผลิตแค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สิ้นเปลืองค่าปัจจัยการผลิต เพราะเป็นไม้ที่ไม่มีแมลงมาก่อกวน สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ใช้เวลาไม่ถึง 3 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวยอดสะเดาไปขายทำรายได้ได้แล้ว และบางรายยังขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเสียบกิ่งเพื่อขายต้นกล้าให้แก่ผู้สนใจนำไปปลูกต่อในลำดับถัดไป

สะเดามันทวาย เป็นพืชผักสมุนไพรยืนต้น ที่สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่เจริญได้ดีมากในดินลูกรัง ทั้งที่ดอนและที่สวน แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชลประทานก็สามารถปลูกได้ เพราะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้ง  แต่ไม่ทนต่อน้ำขัง เมื่อต้นติดแล้วจะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีระบบรากแก้วที่แข็งแรง หากต้องการผลผลิตเร็วควรเลือกใช้กิ่งตอน และควรเลือกปลูกช่วงเริ่มฤดูฝนเพื่อจะได้มีความชุ่มชื้นเพียงพอให้รากเจริญได้ดี เมื่อรากแข็งแรงแล้วเราสามารถปล่อยให้ต้นเติบโตตามธรรมชาติ เพียงเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกบริเวณโคนต้นปีละครั้งและฉีดพ่นน้ำหมักทางใบเพื่อบำรุงต้น ก็สามารถเก็บเกี่ยวยอดสะเดาได้ภายในระยะเวลา 2.5-3 ปี และหลังจากนั้นก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวๆ กันเลยทีเดียว ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องแมลงมาก่อกวน

การเตรียมดินสำหรับปลูก สะเดามันทวาย ให้ทำการไถดะ และเว้นระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 8 เมตร เผื่อการเจริญเติบโตและการขยายของทรงพุ่ม เพื่อให้ได้รับแสงได้ทั่วถึง ให้ขุดหลุมมีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตรแล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูก หมั่นกำจัดหญ้าวัชพืชเป็นระยะ รอเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต และหากเพื่อนๆ เกษตรกรรายใดมีแหล่งน้ำในที่ทำกิน สามารถวางระบบให้น้ำแก่ต้นสะเดา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกยอดระหว่างรอบให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้บ่อยขึ้น และยิ่งเก็บถี่ ยอดอ่อนก็จะแตกยอดได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook