ต้นจิงจูฉ่าย แค่ได้ยินชื่อ หลายคนคงจะพอเดาได้ว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยมีแหล่งกำเนิดอยู่ในมณฑล Guizhou ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถูกนำมาปลูกในไทยเรายาวนานแล้วและมีชื่อไทยว่า โกฐจุฬาลัมพาขาวหรือโกศจุฬาลัมพาขาว ที่เป็นสมุนไพรมากสรรพคุณชนิดหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินชื่อจิงจูฉ่ายจากเมนูอาหารกันมากกว่า โดยเฉพาะเกาเหลาเลือดหมูใส่จิงจูฉ่าย หรือนำมาใช้ประกอบอาหารเมนูต่างๆ เช่น แกงเผ็ด ต้มจืด ชุบแป้งทอด และยำ เป็นต้น ช่วยชูรสและดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ดีเพราะต้นพืชผักชนิดนี้มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในใบและลำต้น
ต้นจิงจูฉ่าย อุดมไปด้วยวิตามินซีสูง และยังมีวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณมาก จัดเป็นยาที่มีสมบัติเป็นธาตุเย็น ที่ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย บำรุงการไหลเวียนของโลหิตขับลมในระบบทางเดินอาหาร นำมารักษาโรคไข้ป่าได้ เป็นพืชสมุนไพรที่มีโซเดียมต่ำไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีภาวะไตบกพร่อง แต่มีข้อควรระวังคือห้ามใช้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อการแท้งบุตร และบุคคลทั่วไปไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเพราะอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความดันต่ำ
ต้นจิงจูฉ่าย เป็นพืชสมุนไพรประเภทล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 15 -30 เซนติเมตร ลักษณะใบเป็นแฉกคล้ายใบขึ้นฉ่าย แต่มีสีเขียวเข้มกว่าและใบมีความหนากว่า ใบมีรสชาติขม มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นสีเขียวกลวง แตกกิ่งก้านหนาแน่น ขยายได้เร็ว ระบบรากแขนงแข็งแรง ผลิดอกสีขาวเป็นช่อ เมื่อดอกโรยและให้เมล็ดจะร่วงหล่นลงบนดินแล้วเกิดเป็นต้นใหม่
ผักจิงจูฉ่ายมักจะหาซื้อทั่วไปไม่ได้ง่ายนัก ดังนั้นการปลูกต้นจิงจูฉ่ายไว้ในบ้านจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่จะหันมาใช้จิงจูฉ่ายเป็นอาหารมากสรรพคุณทางยา โดยสามารถปลูกลงกระถางหรือปลูกลงดินเลยตามความสะดวกและพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถปลูกได้ทั้งด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกต้น หรือเพาะชำ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือนำรากไปปักชำเลย หาที่พลางแดดคอยบังแสงเพื่อให้ต้นกล้างอกได้ดี ดินที่ใช้เพาะปลูกควรเป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี เพราะพืชชนิดนี้ไม่ทนน้ำขังและไม่ทนแล้ง จึงควรรดน้ำเพียงวันละครั้งด้วยปริมาณพอชุ่ม หากมีกรบำรุงด้วยปุ๋ยคอกเก่า จะเพิ่มความอวบอิ่มให้แก่ลำต้นและความสมบูรณ์ของใบ หมั่นตัดแต่งกิ่งก้านและเด็ดมารับประทานเพื่อให้แตกยอดขึ้นมาใหม่ ทำให้มีผักจิงจูฉ่ายไว้รับประทานได้ตลอดทั้งปี