สาธรที่จะมานำมาเขียนในวันนี้ ไม่ใช่ถนนสาธร แต่เราจะชวนคุยกันเรื่องต้นไม้มีค่าชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ต้นสาธร ที่นับเป็น 1ใน 58 ชนิดที่มีสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ไม้ยืนต้นชนิดนี้ในภาคกลางจะเรียกชื่อเดิมๆ ไม้กะเซาะ หรือขะเจาะ ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกว่า ไม้ขะแมบหรือคำแมบ แต่ทางประจวบคีรีขันธ์จะเรีบกขานกันว่าไม้กระพี้เขาควาย เป็นไม้มงคลที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าหากใครได้ปลูกต้นสาธรไว้ในอาณาบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงรวมทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานให้แก่ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าว และในพิธีกรรมต่างๆ จะนำใบสาธรไปใช้เพื่อประกอบพิธีในการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์โดยมีนัยยะถึงการเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ร่วมพิธี จึงเป็นที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับในรั้วบ้านเพื่อความเป็นมงคลและยังอาศัยทรงพุ่มที่ใบหนาแน่นให้ร่มเงาและช่วยกันฝุ่นได้ อีกทั้งดอกมีฟอร์มที่สวย ช่วยทำให้สวนหน้าบ้านดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
นอกจากนี้ต้นสาธรยังถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นไม้แปรรูปเพื่องานก่อสร้าง เพราะเนื้อไม้และแก่นไม้มีความแข็งแรง ทนทาน และมีเนื้อไม้สีสวย โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะนำมาใช้เป็นไม้ขื่อ ไม้แป และเสาบ้าน นำมาใช้ประกอบเป็นของใช้และเฟอร์นิเจอร์ต่าง เช่น เตียง ล้อเกวียน กระเดื่องตีพริก ครก เป็นต้น และยังนำมาทำเป็นด้ามไม้สำหรับเครื่องมือเครื่องใช้อีกด้วย ใบสาธรสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตน้ำผักสาธร เพื่อใช้ปรุงรสในอาหาร โดยรสชาติของน้ำหมักที่ได้จากใบสาธรนี้จะมีรสชาติหวานและเค็มตามธรรมชาติ มักนำมาใช้ปรุงรสอาหารแทนซอสปรุงรส
ตามธรรมชาติแล้วจะพบต้นสาธรได้ในบริเวณที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ ลำธาร ตามป่าเบญจพรรณ จัดเป็นไม้ในวงศ์ถั่ว พบได้ทั่วไปในป่าแถบประเทศลาว เมียนมาร์และไทย มีลำต้นที่เติบโตเต็มที่จะสูงถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกระบอกบ้างและทรงกลมบ้าง เป็นพุ่มที่มีใบหนาแน่น ผิวเปลือกของลำต้นมีสีเทา ผิวเรียบและมีสะเก็ดไม่ลึกนักประปราย เนื้อไม้ด้านในมีสีน้ำตาลจางๆ แก่นไม้มีสีน้ำตาลแก่ ใบมีลักษณะยาวรี ปลายแหลม แตกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง มีสีของดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ทั้งดอดกสีขาวครีม ดอกสีม่วงและดอกสีเหลือง ให้ผลเป็นฝักคล้ายดาบ ฝักแบนเปลือกแข็ง เมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ด้านในฝักจะมีเมล็ดแบนสีน้ำตาลแก่ 1-3 เมล็ด สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้