สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นเคี่ยม มรดกจากป่าดงดิบ

ต้นเคี่ยม ไม้ป่าขึ้นชื่อของแดนใต้ ที่เป็นมรดกทางธรรมชาติ เป็นไม้ในวงศ์ยางนา ที่ใช้ประโยชน์ส่วนต่างๆ ของต้นไม้ได้หลากหลาย ตั้งแต่นำลำต้นที่มีเนื้อไม้แข็งแรง มีน้ำหนักดี คุณสมบัติเนื้อไม้เหนียว เหมาะในการนำไปใช้สร้างเป็นเรือ เพราะทนทานต่อน้ำ รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนของโครงสร้างในงานก่อสร้างที่เน้นความแข็งแรงของเนื้อไม้ สามารถทนแดดทนฝน จึงเหมาะนำมาใช้เป็นพื้นไม้ในลานกลางแจ้ง ไม้พื้นสำหรับสร้างสะพาน ท่าเรือ โปะแพ ไม้หมอนรางรถไฟ เป็นต้น แต่เดิมนั้นในการชักพระจะนำไม้ชนิดนี้มาใช้ทำเป็นเลื่อน และเศษกิ่งไม้เคี่ยมยังจัดเป็นเชิงเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสูงมาก จนสามารถนำไปทำความร้อนในการตีมีดตีพร้าได้ โดยช่างเหล็กยุคเก่าจะทราบกันดีว่าหากจะเผาเหล็กควรต้องเลือกใช้ถ่านที่ได้มาจากไม้เคี่ยมจึงจะได้ความร้อนที่เหมาะสม

นอกจากนั้นส่วนของยางจากลำต้นของไม้เคี่ยมที่เราเรียกกันว่าชันเคี่ยม ยังสามารถนำมาผสมกับน้ำมันทาไม้และน้ำมันขัดเงาได้ รวมทั้งนำมาใช้ยาแนวเรือ ส่วนของเปลือกไม้นั้น ด้วยภูมิปัญญาโบราณได้นำมาใช้เป็นวัสดุกันบูดสำหรับน้ำตาลสดและน้ำตาลเมาที่ได้จากต้นตาล รวมทั้งถูกนำไปใช้ในการหมักเครื่องดื่มประเภทของเมาต่างๆ อีกด้วย ขณะเดียวกันในแง่ของสรรพคุณสมุนไพรนั้นเปลือกของต้นยังใช้เป็นยาพื้นบ้านในการห้ามเลือดและล้างแผลสด ส่วนของชันเคี่ยมใช้สมานแผล เป็นต้น

ต้นเคี่ยมเป็นไม้ยืนต้น มีเรือนยอดหนาทึบ ทรงพุ่มแบบฉัตรเตี้ย ลำต้นเปลา สูงระหว่าง 20-40 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาล มีรอยแต้มสีเหลือง เทา แต่งแต้มตามลำต้น ด้านในของเปลือกลำต้นมีสีอ่อนกว่าเปลือกนอก มีน้ำยางเหนียวสีใสไหลออกมาตามลำต้น เมื่อทิ้งไว้จะกลายเป็นก้อนชันสีเหลืองขุ่น ความแตกต่างระหว่างต้นเคี่ยมที่พบในไทยเรา 2 ชนิดนั้น  คือเคี่ยมขาวและเคี่ยมดำนั้น ได้แก่ ต้นเคี่ยมขาวจะมีเปลือกของลำต้นบางกว่าต้นเคี่ยมดำ และยังมีสีเปลือกผิวที่มีสีอ่อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ใบของต้นเคี่ยมจะมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ลักษณะรียาว ปลายใบแคบ โคนใบโค้งกลม ใบมีสีเขียว ผิวใบเรียบมันวาว ใบค่อนข้างหนา ใบกว้างราว 2-5 เซนติเมตรและยาวระหว่าง 5-15 เซนติเมตร จะผลิดอกสีขาวเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่งและซอกใบ ดอกเป็นช่อยาวและมีกลิ่นหอมละมุน ให้ผลขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปแล้วเราจะสามารถพบต้นเคี่ยมได้ในแถบป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยไปจนถึงจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันต้นไม้ชนิดนี้จัดเป็นหนึ่งในไม้ป่าที่ใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook