สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

พรรณไม้วงศ์ยาง ไม้เศรษฐกิจทรงคุณค่า

พอเอ่ยถึงคำว่าพรรณไม้วงศ์ยาง หลายคนจะนึกถึงแต่ต้นยางพาราเท่านั้น ทั้งที่ในประเทศไทยเรามีไม้วงศ์นี้มากกว่า 60 ชนิด 8 สกุล ที่น่าสนใจก็คือไม้วงศ์นี้สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้ แม้ว่าจะใช้เวลาในการปลูกและดูแลที่ยาวนานกว่าพืชผลทั่วไป แต่คุณค่าเมื่อสะสมในระยะยาวนับว่าคุ้มค่าไม่น้อย ส่วนใหญ่แล้วผู้ปลูกไม้วงศ์นี้มักจะนำเนื้อไม้ที่เติบโตเต็มที่มาทำเป็นไม้แปรรูป เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ส่วนใบที่มีขนาดใหญ่นั้นในอดีตจะนำมาใช้ห่ออาหารและยังใช้ทำหลังคาบ้านและผนังบ้าน รวมทั้งทำเป็นหลังคาโรงเรือนสำหรับปศุสัตว์ได้

ด้วยคุณประโยชน์และคุณค่าของพรรณไม้วงศ์ยางที่มีมากมายนี้ จึงมีเกษตรกรบางรายหันมาปลูกไม้ป่าวงศ์นี้กันมากขึ้น เพราะเล็งเห็นผลในระยะยาวกัน ทั้งในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไม้ที่ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้เกิดการพังทลายและถูกชะล้าง ให้ร่มเงาที่แผ่กว้าง และยังช่วยเป็นแนวกันลมและกันฝุ่นได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะนำไปปลูกแซมกับไม้ผลและพืชผักอื่นๆ ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ระหว่างรอไม้ยางเติบใหญ่ ก็สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้

ก่อนอื่นเรามารู้จักลักษณะร่วมของพรรณไม้วงศ์ยางที่ส่วนมากมักจะมีพูพอนบริเวณลำต้นและอาจจะมีรากค้ำยันในบางชนิด แต่บางครั้งก็พบชนิดที่ไม่มีพูพอนอยู่บ้างเช่นกัน ส่วนของเปลือกลำต้นนั้นมักจะมีสะเก็ดของเปลือกเกิดขึ้นจากรอยแตกตามยาวของลำต้นเป็นร่องลึก ผิวด้านในของเปลือกไม้จะมีสีอ่อนกว่าเปลือกนอกและจะมีน้ำยางที่ขาวขุ่นหรือสีใสไหลออกมาบริเวณเปลือกไม้เมื่อมีบาดแผล มีดอกแบบสมบูรณ์เพศ และมีใบเดี่ยวสีเขียวขนาดค่อนข้างใหญ่รูปทรงแตกต่างกันไป

พรรณไม้วงศ์ยางที่พบในบ้านเรานั้นได้ถูกจัดออกเป็น 8 สกุลใหญ่ๆ ได้แก่ สกุลที่เรารู้จักกันมากที่สุด คือ สกุลยาง พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ต้นยางแดง ต้นยางพลวง ต้นยางวาด เป็นต้น อีกสกุลที่คุ้นชื่อของต้นไม้แต่ละชนิด คือสกุล พันจำ ที่มีไม้จำพวก ต้นจันทน์กะพ้อ ต้นสะเดาปัก ต้นพันจำ อยู่ในสกุลนี้  ส่วนสกุลกระบาก อย่าง ต้นกระบางแดงและกระบากม่วง ก็จัดเป็นไม้วงศ์นี้เช่นกัน แม้กระทั่งไม้เต็ง ไม้รัง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ที่เรามักพบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคก็เป็นไม้ในวงศ์ยาง อีกทั้งสกุลเคี่ยมและสกุลไข่เขียว ก็ถือว่าเป็นวงศ์ยางทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีชื่อแตกต่างกันไปมากก็ตาม อย่างน้อยเมื่อเราได้ยินชื่อไม้เหล่านี้จะได้ทราบว่าคือไม้วงศ์เดียวกันทั้งสิ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook