ด้วยความนิยมบริโภคมะเขือเทศกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทำให้เกิดการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แบบทั้งด้านขนาด รูปร่าง รสชาติ สี ความแน่นเนื้อที่ทนทานต่อแรงกระแทกจากการขนส่ง ตลอดจนความสามารถในการต้านทานโรค และที่สำคัญคือต้องมีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์ที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนผสมหลัก ต่างเป็นผลิตผลการเกษตรที่สร้างอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมะเขือเทศมากกว่าร้อยละ 80 ถูกเพาะปลูกสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น น้ำมะเขือเทศพร้อมดื่ม น้ำมะเขือเทศเข้มข้น ซอส และอื่นๆ
ปัจจุบันการปลูกมะเขือเทศอินทรีย์นั้น เกษตรกรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้เมล็ดพันธุ์ผักการค้าเป็นหลัก ซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ภายใต้ระบบเคมีมาโดยตลอด ทำให้มะเขือเทศที่ปลูกตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นเมื่อนำมาผลิตภายใต้ระบบอินทรีย์ หลายสายพันธุ์จึงเกิดปัญหาความอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อม โรคแมลง รวมทั้งไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์หรือการจัดการแบบอินทรีย์ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้แตกต่างจากการผลิตแบบเคมีอย่างมาก
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตผักอินทรีย์ให้สามารถสร้างรายได้หลักแก่เกษตรกร เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้ การพัฒนาพันธุ์ผักที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการผลิตแบบอินทรีย์นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อการบริโภคผลสดและการแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม” โดยมี ดร.พวงเพชร พิมพ์จันทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยทีมวิจัยได้เลือกมะเขือเทศเป็นผักเริ่มต้นในการพัฒนาพันธุ์ เนื่องจากมีเชื้อพันธุกรรมมะเขือเทศที่ดีภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ปี 2556-2558 และได้ปลูกประเมินเชื้อพันธุกรรมทั้งสภาพโรงเรือนและแปลงเปิดภายใต้ระบบอินทรีย์มากว่า 3 ปี ทั้งมะเขือเทศรับประทานสดผลใหญ่ มะเขือเทศรับประทานสดผลเล็ก และมะเขือเทศสีดา ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน
เพื่อให้ได้มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการผลิตแบบอินทรีย์ของประเทศไทย คณะผู้วิจัยจึงเลือกใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน (Conventional Breeding) โดยใช้การคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) เทคนิคการผสมข้ามแบบ Nort Carolina Design I และเทคนิคการรวมยีน (Gene Pool) ในมะเขือเทศทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อให้ได้มะเขือเทศที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และโรคแมลงในแปลงปลูก การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดีและมีสารสำคัญสูง ในรูปแบบของพันธุ์แท้ พันธุ์ลูกผสม ประชากรที่ผ่านการปรับปรุง (รวมยีน) และประชากรชั่วรุ่นต่าง ๆ โดยในการดำเนินการครั้งนี้ทำควบคู่กับการจัดการและปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศอินทรีย์ที่เหมาะสมสำหรับการแปรรูปต่างๆ เพื่อผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอด และเผยแพร่เทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ การผลิตมะเขือเทศอินทรีย์ การจัดการเมล็ดพันธุ์ การแปรรูปผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งผลสำเร็จของงานวิจัยสามารถนำไปเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพันธุ์ผักหรือพืชชนิดอื่นๆ ต่อไป