อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรตั้งอยู่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างกั้นแม่น้ำลำโดมน้อย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และยังมีศักยภาพรองในด้านการท่องเที่ยว ประมง และเกษตรกรรม เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลานิลในกระชังที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ที่นำไปหล่อเลี้ยงตลาดปลานิลในพื้นที่จังหวัดในพื้นที่อีสานตอนล่าง โดยมีสัดส่วนจำนวนกระชังที่เพาะเลี้ยงปลาเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่การเพาะเลี้ยงทั้งหมดในจังหวัด การเลี้ยงปลากระชังนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในประเด็นคุณภาพน้ำจากการสิ่งขับถ่ายของปลาหรืออาหารปลาที่เหลือสะสมในแต่ละวัน เมื่อถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์แล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่จะไปมีผลกระตุ้นการเจริญของสาหร่าย ทำให้สาหร่ายบลูมจนอาจทำให้ปลาขาดออกซิเจนหรือได้รับสารพิษที่สาหร่ายบางชนิดสร้างขึ้นมา จนทำให้ปลาตายได้ นอกจากนี้หลังจากการจับปลาในแต่ละกระชัง จะมีการนำกระชังมาผึ่งแห้งซึ่งทำให้ฟองน้ำน้ำจืด ที่เกาะติดกับตาข่ายของกระชังตายและโครงสร้างของฟองน้ำน้ำจืด ที่เรียกว่าขวากปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทำให้เพิ่มพูนปัญหาคุณภาพน้ำตามมาอีกด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่เกิดอาการคันเมื่อสัมผัสแหล่งน้ำตามมาอีกด้วย
คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้รับการร้องขอจากประธานกลุ่มเลี้ยงปลากระชังเขื่อนสิรินธรรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยแก้ปัญหาการบลูมของสาหร่ายและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพดีเหมาะสมในการนำมาอุปโภคบริโภค การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร พร้อมทั้งหาแนวทางร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาด ปราศจากมลพิษทางน้ำอย่างยั่งยืน
สวก.จึงได้สนับสนุนวิจัยสำหรับโครงการ “บูรณาการการป้องกันแก้ปัญหาสาหร่ายและคุณภาพน้ำในเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา มูลสิน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสาหร่ายและปัจจัยที่ส่งผลต่อการบลูมของสาหร่าย เพื่อพัฒนากระบวนการกำจัดสาหร่ายที่บลูมบริเวณกระชังปลา ตลอดจนศึกษาความหลากหลายของฟองน้ำและสกัดสารจากฟองน้ำ และหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาอาการคันของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลากระชัง รวมทั้งร่วมมือกับชุมชนในการป้องกันและปรับปรุงคุณภาพน้ำ และลดการติดเชื้อจากปรสิตของปลากระชัง ภายในเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดสาหร่าย ป้องกันและแก้ปัญหาคุณภาพน้ำให้กับเครือข่ายผู้เพาะเลี้ยงปลากระชัง และผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบเขื่อนสิรินธร ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถดูแลและรักษาระบบนิเวศได้ด้วยตนเอง รวมถึงเกิดเครือข่ายร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังและผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการบริหารจัดการคุณภาพน้ำอย่างยั่งยืนและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังมีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย