สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การควบคุมโรคผลแตกผลลายในการผลิตลำไยส่งออกจังหวัดพะเยา

ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญอันดับหนึ่งของภาคเหนือในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ลำพูน พะเยา  น่าน ลำปาง แพร่ และจังหวัดตาก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยที่สำคัญและมีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ โดยจังหวัดพะเยาเป็นแหล่งปลูกลำไยที่สำคัญจังหวัดหนึ่ง มีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ลำไยในพื้นที่แหล่งผลิตจังหวัดพะเยายังเผชิญกับความท้าทายจากโรคผลแตกลาย ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิต เช่นในพื้นที่ปลูกลำไยในอำเภอเมือง และอำเภอดอกคำใต้ ที่ได้รับผลกระทบของโรคผลลาย จนทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ ลำพูน โรคระบาดนี้กลับไม่เกิดการระบาดขึ้น สันนิษฐานว่าโรคดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อสาเหตุโรคพืช หรือการจัดการสวนที่ไม่หมาะสม  อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาหาแนวทางการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดพะเยา จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยและผู้ประกอบการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่

สวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การควบคุมโรคผลแตกผลลายในการผลิตลำไยส่งออกจังหวัดพะเยา (ระยะที่ 2)” โดยมี รศ.ดร.สุภัค มหัทธนพรรค สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย เพื่อทดสอบสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ในการป้องกันกำจัดเชื้อราที่แยกได้จากอาการผลแตกผลลายในการวิจัยปีที่ 1 ในระดับห้องปฏิบัติการและแปลงปลูกของเกษตรกรพื้นที่ทดสอบ เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดปัญหาอาการผลแตกผลลายของลำไยแบบวิธีผสมผสานในการผลิตลำไยส่งออก  นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาวิธีการตรวจสอบโรคพืชในลำไยขึ้นเพื่อหาวิธีตรวจสอบสาเหตุโรคลำไยที่รวดเร็ว  โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านชีวโมเลกุลเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและป้องกันแก้ไขได้ตรงกับชนิดเชื้อก่อโรคได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลาและลดการระบาดของโรคได้

ผลสำเร็จจากงานวิจัยนี้ ได้สร้างต้นแบบการใช้แปลงเกษตรกรที่มีการควบคุมโรคลำไยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถลดปัญหาการเกิดโรคผลแตกผลลายได้ในพื้นที่ดำเนินการ เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ได้ไปประยุกต์ใช้จริง ทำให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืชในแปลงผลิตอย่างได้ผล ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคลำไยที่เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ผลิตลำไยส่งออกในจังหวัดพะเยา และใช้เป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและการป้องกันกำจัดโรค ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้ผลผลิตในปริมาณสูงและมีคุณภาพผลผลิตที่ดี ไม่มีตำหนิบริเวณผลเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งยังเแก้ไขปัญหาการฉีดพ่นสารเคมีแบบเดาสุ่ม ทำให้เกิดการใช้สารเคมีปริมาณสูงเกินความจำเป็นและทำให้เชื้อก่อโรคดื้อยา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในระยะยาวและเกิดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook