สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การขยายพันธุ์ผักหวานป่า

ผักหวานป่า แม้ชื่อจะอยู่ในป่าแต่กลับเป็นที่นิยมในการบริโภคของคนในเมืองเป็นอย่างมาก และหากจะรอให้เด็ดจากป่ามาวางขายได้อาจจะต้องใช้เวลารอที่ยาวนานร่วมปี เพราะตามธรรมชาติแล้วในแต่ละปีผักหวานป่าตามธรรมชาติจะมียอดให้นำมาขายได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้นการขยายพันธุ์ผักหวานป่าเพื่อปลูกตามไร่ตามสวนจึงเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรที่จะผลิตผักใบเขียวพื้นบ้านยอดฮิตให้มีส่งขายในตลาดทั้งปี สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

การเลือกพื้นที่สำหรับการขยายพันธุ์และปลูกผักหวานจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นผักหวานเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ให้ผลผลิตที่เราสามารถเก็บเกี่ยวไปขายได้ในเวลาประมาณ 3 ปี ไม่ควรจะปลูกในดินที่ขาดธาตุอาหาร แม้ว่าพืชชนิดนี้จะสามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติในป่าที่เป็นดินโคก ดินกรวด แต่หากเราจะปลูกเพื่อทำการค้า ต้องเน้นเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตของพืชและการให้ผลผลิตเป็นหลัก ทำเลที่ปลูกควรมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ช่วยพรางแสงและให้รากของต้นผักหวานป่าได้เกาะอาศัยด้วย

การเก็บเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าเพื่อนำมาขยายพันธุ์จะต้องเก็บจากผลที่ยังไม่ร่วงจากต้น ควรเก็บจากผลที่ที่ยังมีสีเขียวเพื่อให้มีอัตราการงอกที่สูงกว่าผลแก่ หากต้องการเมล็ดพันธุ์ที่ดีอาจจะต้องเข้าเก็บผลในป่าที่สงบและลึกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และนำมาแยกเปลือกและเนื้อผลออกให้เกลี้ยง เพื่อจะได้เมล็ดที่ไม่มีเนื้อผลติดอยู่ซึ่งจะดึงดูดให้แมลงมาเกาะกินได้หลังจากนั้นให้ตากเมล็ดให้แห้งราว 3 วัน แล้วจึงนำไปขยายพันธุ์ให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดอัตรางอกสูง โดยนำเมล็ดเหล่านั้นไปวางบนกระสอบป่านที่ชุบน้ำมากแล้วบ่มไว้ในที่ร่มและรดน้ำให้ชุ่มตลอด 3-7 วัน จะได้เมล็ดพันธุ์ที่มีปลายเมล็ดปริออก จึงทยอยคัดเพื่อนำไปเพาะลงในถุงดำหรือแปลงเพาะ ในที่ร่มที่มีสแลนพรางแสงไว้ หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว 1 สัปดาห์ให้คัดเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงย้ายลงปลูกแปลงต่อไป ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนี้มีข้อดีคือต้นพืชเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกด้วยเหง้าหรือกล้าถุง

นอกจากเรื่องของการปลูกผักหวานแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือการปลูกพืชอื่นๆ ที่มีร่มเงาให้รากผักหวานป่าได้อิงอาศัย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะกระตุ้นให้ต้นผักหวานนี้เจริญงอกงามได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการปลูกผักหวานแบบไม่มีพืชพี่เลี้ยงหรือพืชข้างเคียงให้อิงอาศัย ดังนั้นหากจะปลูกผักหวานป่าจึงควรพิจารณาเรื่องพืชข้างเคียงประกอบด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook