สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว

การป้องกันกำจัดศัตรูข้าวเป็นเรื่องที่ชาวนาทุกคนต่างให้ความสำคัญ เพราะในนาข้าวนั้นจะมีแมลงและสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมาก ทั้งที่เป็นแมลงดีๆ ที่คอยมาช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงนา เช่น มวนดูดไข่ จิ้งโจ้น้ำ ตัวห้ำ ตัวเบียนต่างๆ และแมลงตัวร้ายที่คอยทำลายต้นข้าวและผลผลิตในนาข้าวที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งมากและน้อยแตกต่างกันไป การป้องกันส่วนใหญ่ที่ใช้จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบผสมผสาน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคและต้านทานแมลงสูง เมล็ดพันธุ์ไม่มีการปะปนของวัชพืช การเตรียมดินที่ถูกต้อง การปล่อยน้ำเข้านาในปริมาณที่เหมาะสม การเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวและชนิดของดินในนา การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าว และการใช้กับดักเพื่อดักจับหนูที่คอยทำลายผลผลิต โดยต้องทำทุกอย่างผสมผสานกันไป

ศัตรูธรรมชาติของศัตรูข้าวที่เราควรอนุรักษ์เพื่อกำจัดและป้องกันแมลงตัวร้ายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น แมงมุมนักล่าหลายขนาดและแมงมุมชักใย แมลงปอที่คอยจับเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดด และหนอนศัตรูข้าวมาเป็นอาหาร ด้วงเด่า ด้วงดิน และด้วงก้นกระดกซึ่งเป็นตัวห้ำสำคัญของเพลี้ยและหนอน มวนตัวห้ำอย่างจิงโจ้น้ำปลพมวนดูดไข่ที่คอยจับเพลี้ยและหนอนกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีตัวต่อแตน ที่เป็นทั้งตัวห้ำและตัวเบียนที่คอยป้องกันกำจัดศัตรูข้าวตั้งแต่ระยะไข่ไปจนถึงระยะดักแด้ ช่วยกำจัดได้ตั้งแต่ต้น ตั๊กแตนและจิ้งหรีดจะทำหน้าที่ทำลายไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยหลายชนิด ดังนั้นเราจึงต้องทำความรู้จักลักษณะของแมลงเหล่านี้และปล่อยให้อยู่ในแปลงนาของเรา เพราะยิ่งมีศัตรูธรรมชาติมากเท่าไร จะยิ่งกำจัดศัตรูข้าวได้มากเท่านั้น ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีและยังส่งผลต่อผลผลิตที่ดีและไม่มีสารพิษตกค้าง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อหาสารเคมีลงได้มาก

สำหรับการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของศัตรูข้าวนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยให้คงเหลือต้นไม้และต้นพืชต่างๆ ตามบริเวณคันนาไว้ให้แมลงเหล่านี้ได้อาศัย และไม่เผาตอซังหลังการจากที่ทำการเกี่ยวข้าวแล้ว เป็นการส่งเสริมระบบนิเวศที่เหมาะสมให้ตัวห้ำตัวเบียนสามารถขยายพันธุ์และดำรงชีวิตได้ดี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณตัวห้ำตัวเบียนในที่สุด นอกจากนี้ควรเลือกใช้พืชสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว เช่น การใช้สารสกัดจากตะไคร้หอม ข่า และสะเดาในการกำจัดตัวอ่อนของเพลี้ย โดยให้ฉีดพ่นทุกสัปดาห์เพื่อควบคุมให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง เป็นการป้องกันและควบคุมโดยไม่ใช้สารฆ่าแมลง ที่แม้จะไม่เห็นผลทันตา แต่ในระยะยาวแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพของชาวนาและผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook