สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

แพะนม เรื่องต้องรู้ก่อนจะเลี้ยงแพะ

แพะนมจัดเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่รวดเร็วกว่าการเลี้ยงโคนม ทำให้มีเกษตรกรหลายรายหันมาให้ความสนใจในการเลี้ยงแพะนมมากขึ้น เพราะนอกจากได้ผลผลิตเร็วแล้ว แพะยังมีความสามารถในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเราได้ดี เลี้ยงง่าย มีลำตัวขนาดเล็กจึงใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก ยิ่งในปัจจุบันนมแพะได้รับความนิยมในการบริโภคมากขึ้นสำหรับคนที่แพ้นมโค โดยส่วนผสมในน้ำนมโคและน้ำนมแพะมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเรื่องของปริมาณน้ำ โปรตีน ไขมัน น้ำตาลและเกลือแร่ และนมแพะนั้นมีจุดเด่นคือย่อยได้ง่ายกว่านมโคอีกด้วย

พันธุ์แพะนมที่เลี้ยงกันในบ้านเรามีทั้งพันธุ์แท้และลูกผสมที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของบ้านเรา เช่น พันธุ์ทอกเก็นเบอร์กที่เป็นพันธุ์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีสีขนสีเทาอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้ม ส่วนมากจะไม่มีเขา มีเหนียงย้อยที่บริเวณคอ 1 คู่ บางตัวอาจจะไม่มีเหนียง แต่ส่วนใหญ่จะพบว่ามีเคราที่บริเวณคาง มีแถบสีขาวข้างแก้ม ตัวผู้จะมีขนยาวกว่าตัวเมีย น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ของแพะเพศผู้ คือ 75 กิโลกรัมและเพศเมียมีน้ำนหนักเพียง 54 กิโลกรัม เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้ดี ส่วนพันธุ์สวิสอีกพันธุ์หนึ่งคือพันธุ์ซาเนน จะเป็นแพะที่มีขนสีขาวแกมน้ำตาลอ่อน ไม่มีเขาและมีขนสั้น ตัวผู้มีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักราว 60 กิโลกรัม ให้ผลผลิตน้ำนมดีเช่นกัน แพะนมพันธุ์ต่อมาคือพันธุ์แองโกลนูเบียนที่เป็นพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์แอฟริกัน เป็นแพะที่มีขนาดลำตัวใหญ่ สีขนมีทั้งชนิดสีดำ สีน้ำตาลอ่อน-แก่และบางตัวอาจจะมีขนสีขาวปะปนอยู่ หูมีขนาดใหญ่ หูห้อยเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตนมน้อยกว่าพันธุ์สวิสแต่ให้ปริมาณไขมันสูง

การเลี้ยงแพะนมสำหรับเกษตรกรรายย่อย มักจะเริ่มต้นจากการเลี้ยงในจำนวนไม่มาก โดยเลือกเลี้ยงเฉพาะพันธุ์ดีที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อเลี้ยงได้ระยะหนึ่งจนเกิดความเข้าใจพฤติกรรมของแพะจึงค่อยขยับขยายเพิ่มจำนวนต่อไป สถานที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงแพะนั้นควรเป็นพื้นที่ตามเนินเขาหรือที่ดอน ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง หากเป็นดินทรายจะดี เพราะไม่อุ้มน้ำ มีพื้นที่เพียงพอให้แพะได้ออกกำลัง มีต้นไม้ให้ร่มเงาและสร้างคอกที่กันฝนกันลมได้ดี พื้นคอกต้องสามารถทำความสะอาดได้ง่าย โดยต้องแยกพื้นที่ระหว่างแพะที่ท้องและมีลูกอ่อน ออกจากแพะทั่วไป และจัดวางที่ใส่อาหารและน้ำไว้ให้ครบถ้วน  ส่วนของอาหารนั้นหากเลี้ยงเชิงพาณิชย์จะต้องให้อาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมสูงและมีคุณภาพ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook