ระบบการให้น้ำ เป็นเรื่องของการวางแผนการรดน้ำสำหรับการทำการเกษตร เพื่อการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และลดค่าใช้จ่ายในด้านของแรงงานการให้น้ำลงและยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การให้น้ำต้นพืชนั้นช่วยสร้างความชื้นให้เหมาะสมกับชนิดของพืช ช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณสวนให้เย็นลง ละลายธาตุอาหารให้พืชดูดซึมได้ง่าย และทำให้ดินนุ่มเพื่อให้รากแผ่ขยายและหยั่งลึกได้ดีขึ้น ส่งผลกระทบที่ดีต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตในแปลงสวนผักและผลไม้
แม้ว่าระบบการให้น้ำจะมีทั้งระบบใต้ผิวดิน ระบบไหลตามดิน และระบบเหนือผิวดิน แต่โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้ระบบเหนือผิวดิน ในบทความนี้จะกล่าวถึงการให้น้ำแบบเฉพาะจุด ที่จุดเด่นคือเป็นระบบที่ทำให้เราสามารถควบคุมน้ำได้ดี เกิดการระเหยของน้ำน้อย ใช้แรงงานคนในการดูแลและควบคุมไม่มากทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้ น้ำไม่กระจายตัวมากทำให้ลดการเกิดวัชพืช ไม่ต้องพึ่งเครื่องสูบและระบบส่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง แต่มีข้อด้อยคือต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง และมักมีตะกอนต่างๆ อุดตันที่หัวจ่ายทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและดูแล ดังนั้นจึงเหมาะแก่พืชที่มีราคาสูงเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
การเลือกใช้ระบบการให้น้ำแบบเฉพาะจุดจึงเหมาะกับผลผลิตที่มีราคาแพงและมีพื้นที่การเพาะปลูกอย่างจำกัด และมีแหล่งชลประทานเพียงพอตลอดฤดูการเพาะปลูก ดินในแปลงปลูกควรช่วยกระจายความชื้นแผ่ไปด้านข้างได้ดีเพื่อครอบคลุมพื้นที่การกระจายตัวของราก ไม่จำเป็นต้องมีความโปร่งของดินมากนัก ยิ่งดินสามารถแผ่ความชื้นรอบบริเวณได้ดีจะยิ่งทำให้เราลดจำนวนหัวจ่ายน้ำลงได้ ทำให้เกิดความประหยัดในการลงทุนเริ่มแรกมากขึ้น เป็นระบบที่เหมาะกับพืชประเภทพืชผักที่มีรากไม่ลึกแต่ต้องการความชื้นในแปลงอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา
อุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องใช้ในการวางระบบการให้น้ำแบบนี้ ได้แก่ ปั๊มน้ำที่ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำที่สูบขึ้นมาจากแหล่งชลประทานไปยังปลายท่อเพื่อทำการจ่ายน้ำโดยสามารถเลือกแหล่งต้นกำลังเป็นแบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ก็ได้ ถัดมาคือเครื่องกรองน้ำเพื่อช่วยกรองเศษวัสดุปนเปื้อนจากแหล่งน้ำซึ่งจะทำให้เกิดการอุดตันที่หัวจ่ายได้ นอกจากนี้ต้องมีตัวหัวจ่าย ท่อหลักและท่อย่อยที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำไปยังต้นพืชและให้น้ำแก่ต้นพืช โดยการทำการเลือกซื้อให้เหมาะสมกับพืช แหล่งน้ำ และปริมาณที่เราต้องการ