สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กระทกรกฝรั่ง ปลูกอย่างไร

กระทกรกฝรั่ง เป็นไม้ผลที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศเขตร้อนในทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาก่อนที่จะรู้จักกันอย่างแพร่หลายและกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศเมืองร้อนทั่วโลก ผลกระทกรกเมื่อผ่าออกมาจะพบเนื้อในที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ด สามารถตักรับประทานสดได้ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน สำหรับคนที่ไม่ชอบรสเปรี้ยวอาจจะตักน้ำตาลโรยเพื่อตัดรสเปรี้ยวให้น้อยลง เนื้อมีกลิ่นหอม นอกจากรับประทานผลสดยังนำไปผสมกับเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อเพิ่มความหอม ความเปรี้ยว และความสดชื่น รวมทั้งนำมาแปรรูปเป็นแยมผลไม้ ไอศกรีม เค้ก น้ำผลไม้เข้มข้น และผงกระทกรก ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการผลไม้ชนิดนี้เพื่อนำไปแปรรูปจำนวนมาก เนื่องจากมีกลิ่นและรสที่โดดเด่น มีวิตามินซีสูง ส่วนเปลือกและเศษเหลือทิ้งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์และหมักเป็นปุ๋ยได้

กระทกรกฝรั่ง เป็นไม้ผลที่ลำต้นเป็นเถาวัลย์แบบเลื้อย สีเขียว เถาวัลย์กลวง มีมือจับงอกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะกับวัสดุหรือค้างเพื่อเจริญเติบโตต่อไป สีของใบแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ มีทั้ง เขียวแก่ เขียวปนแดงม่วง แผ่นใบบาง แตกดอกเดี่ยวที่ซอกใบเป็นดอกสมบูรณ์เพศ โดยจะเริ่มแตกดอกจากบริเวณโคนกิ่งและทยอยแตกยังตาดอกที่ไล่ขึ้นไปยังปลายกิ่งเป็นลำดับ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลมีลักษณะกลมรี สีเปลือกผลมีทั้งสีเหลือง สีม่วงแก่ ม่วงอ่อน แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ด้านในผลมีเนื้อส่วนนอกที่ไม่สามารถรับประทานได้ มีเมือกหรือรกหุ้มเมล็ดที่นำมารับประทานสดได้ ส่วนของเมล็ดนั้นจะมีสำดำหรือน้ำตาลแก่

กระทกรกฝรั่งเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ควรปลูกในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี อุดมด้วยอินทรียวัตถุ ค่า pH ระหว่าง 5.5-6.5 มีแสงแดดไม่ต่ำกว่าวันละ 7 ชั่วโมง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำ ทาบกิ่ง ตอนกิ่งและเพาะเมล็ด แต่วิธีเพาะเมล็ดได้รับความนิยมทำกันมาก โดยเลือกเมล็ดพันธุ์จากลำต้นที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีประวัติของโรคพืช ผลมีคุณภาพและให้ผลผลิตดี นำเมล็ดที่ได้จากผลสุกเต็มที่ไปเพาะในแปลงเพาะหรือถุงดำ โดยทำเลที่จัดวางภาชนะเพาะควรมีแสงแดดส่องเพียงรำไร ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ต้นกล้าจะงอกและแตกใบอ่อน แล้วจึงคัดต้นหล้าที่แข็งแรงเพียงถุงละ 1 ต้น รอจนครบ 30-45 วัน เมื่อต้นกล้าตั้งตรงและมีความสูงราว 10-15 เซนติเมตรจึงย้ายลงแปลงที่ได้รับการปรับพื้นที่ ปรับปรุงดินและทำค้างไว้อย่างเหมาะสมและมีไม้ค้ำปักไว้พยุงต้นพืชให้เลื้อยขึ้นไปเกาะยึดกับค้างได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook