สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ฟักข้าว พืชริมรั้ว

ฟักข้าว เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเวียดนาม และพบได้ตั้งแต่มณฑลทางตอนใต้ของจีน ประเทศบังคลาเทศ พม่า ลาว ไทย เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยเรานั้นอาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ทางปัตตานี จะเรียกกันว่า ขี้กาเครือ ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกกันว่า มะข้าวและผักข้าว แต่เดิมนั้นจะปลูกกันตามรั้วบ้านให้ต้นฟักข้าวเลื้อยอิงอาศัยกับแนวรั้ว แล้วเด็ดยอดอ่อนและผลอ่อนมาลวกหรือนึ่งเป็นผักรับประทานแนมกับน้ำพริกหรือนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทแกงต่างๆ ขณะที่ปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์จากเยื่อหุ้มเมล็ดที่ได้จากผลฟักข้าวสุกที่อุดมไปด้วยโภชนาการต่าง มาใช้ประโยชน์เป็นอาหารโภชนาการสูงและอาหารเสริมด้วยการนำผลิตเป็นเครื่องดื่มน้ำฟักข้าวและฟักข้าวแคปซูล เป็นต้น นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเวชสำอางหลายชนิด เพราะผลสีส้มสดที่เข้มข้นนั้นมีส่วนประกอบของเบต้าแคโรทีนและไลโคปีนสูง

ต้นฟักข้าวเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเป็นเถาวัลย์ทรงเหลี่ยม ที่จะเลื้อยเกาะตามต้นไม้ใกล้เคียงหรือวัสดุต่างๆ มีอายุหลายปี สามารถเจริญเติบโตและมีความยาวของเถาวัลย์ได้ถึง 20 เมตร มีมือเกาะเป็นเส้นเดี่ยวแตกออกมาจากบริเวณข้อตามเถา แตกใบเดี่ยวตามกิ่งและลำต้น ใบคล้ายใบพลู โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ส่วนกลางใบกว้างและสอบลงจนแหลมที่ปลายใบ ใบมีความยาวราว 6-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 5-8 เซนติเมตร สีเขียวแก่ มีลักษะณเป็นลอนตามแนวเส้นแขนงใบ ผลิดอกเดี่ยวตามข้อของเถา เป็นดอกแยกเพศ แยกต้น กลีบดอกมีด้วยกัน 5 กลีบ เป็นสีขาวครีมหรือเหลืองอ่อน กลางดอกจะเป็นสีม่วงปนน้ำตาล มีกลีบรองดอกสีเขียวหุ้มอยู่ ดอกเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศเมียและมีความยาวมากกว่า ผลฟักข้าวนั้นจะมีลักษณะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ทั้งเรื่องของรูปทรง ขนาด น้ำหนัก แต่โดยรวมแล้วจะพบว่ามีรูปทรงผลทั้งผลรีและผลกลม โดยจะมีหนามแหลมปกคลุมทั้งผล ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่จะมีแดงส้มแดงจัด ภายในผลพบเมล็ดเรียงกันปริมาณมากและมีเยื่อหุ้มเมล็ดหนา

การปลูกฟักแม้วนั้นสามารถทำได้ด้วยกันหลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด การทาบเถา การแยกรากและการปักชำ พื้นที่ในการเพาะปลูกควรเป็นดินที่มีความชุ่มชื้นสูง รับแสงแดดไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง ควรมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ช่วยปกคลุมและพลางแสง มีวัสดุให้ยึดเกาะ หากจะปลูกในเชิงพาณิชย์ควรทำค้างให้ยึดเกาะ ใช้เวลาไม่เกิน 6-7 เดือนหลังปลูกจะเริ่มแตกดอกและเป็นพืชที่ให้ผลผลิตได้ทุกช่วงฤดู

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook