สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กุ้งกุลาดำ กุ้งน้ำเค็มตัวใหญ่ เนื้อแน่น

กุ้งกุลาดำ แม้จะเป็นกุ้งทะเลที่มีชื่อหลากหลายมาก แต่เรามักจะยึดใช้ชื่อตามที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ใช้เรียกขานคือ Giant Tiger Prawn เป็นสัตว์น้ำทะเลที่มีแหล่งกำเนิดแถบชายฝั่งทะเลอินโดแปซิฟิกตะวันตก และยังพบได้ตามแถบทะเลในทวีแอฟริกาและคาบสมุทรอินเดีย ในไทยเรานั้นจะพบเห็นได้ทั่วไปทั้งฝั่งอ่าวไทย แถบเกาะช้าง จังหวัดตราด ฝั่งตะวันออกของจังหวัดชุมพรไปจรดนครศรีธรรมราช และฝั่งอันดามัน พบมากแถบจังหวัดภูเก็ตและระนอง อาศัยปากแม่น้ำที่มาบรรจบกับทะเล ชอบฝังตัวอยู่ในทรายโคลนใต้ท้องทะเลลึกในตอนกลางวัน และออกหากินซากพืช ซากสัตว์และสัตว์เล็กสัตว์น้อยในตอนกลางคืน ปัจจุบันมีการบริโภคกุ้งกุลาดำกันมากจึงได้มีการเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การผลิตกุ้งกุลาดำในปัจจุบันนี้มีตลาดรับซื้อที่สำคัญ คือ สะพานปลาที่มีในแต่ละแหล่งผลิต ที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตไปขายให้แก่ผู้บริโภค ภัตตาคาร ร้านอาหารต่อไป และ อุตสาหกรรมห้องเย็น ที่จะทำหน้าที่รวบรวมกุ้งมาเข้ากระบวนการผลิตเป็นกุ้งแช่เยือกแข็ง เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต่อไป โดยตลาดห้องเย็นนั้นยังมีความต้องการกุ้งจำนวนมากและมียอดสั่งซื้อที่ต่อเนื่อง หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งสามารถผลิตกุ้งได้ตามมาตรฐานที่กำหนดจะมีตลาดรองรับในระยะยาว

กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งทะเลที่มีเปลือกห่อหุ้มตัวเรียบเนียน ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง บริเวณกลางสันหลังมีลายสีดำพาดขวางบนเปลือกกุ้ง กุ้งที่ยังโตไม่เต็มวัยเปลือกอาจจะมีสีเหลื่อมออกฟ้า แต่เมื่อโตเต็มที่จะมีออกดำ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร มีหนวดยาว โดยทั่วไปกุ้งตัวผู้จะมีขนาดลำตัวเล็กกว่ากุ้งตัวเมีย เมื่อกุ้งตัวเมียเกิดการลอกคราบจะสามารถผสมพันธุ์ได้ทันที

สำหรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งของฟาร์มว่าเป็นแหล่งที่มีดินที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง โดยจะต้องมีค่า pH 6.5-8.5 ขังน้ำได้ดีไม่รั่วไหลและไม่พังทลาย อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่สะอาด ปราศจากสารพิษและไม่มีน้ำเสียมาเจือปน และมีปริมาณน้ำพอใช้ในการเลี้ยงกุ้งได้ ค่าความเค็มของน้ำไม่แปรปรวน เป็นแหล่งที่สามารถขนส่งพันธุ์กุ้งได้ง่ายและรวดเร็ว มีไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งานในระบบการผลิตกุ้งและดูแลบ่อ ไม่ห่างไกลจากแหล่งรับซื้อผลผลิต เพื่อให้ไม่เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและปริมาณสูง นอกจากนี้จะต้องคัดเลือกพันธุ์กุ้งกุลาดำที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงจากแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบข้อมูลและมาตรฐานการเพาะลูกพันธุ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของการวางแผนก่อนการลงทุนและลงมือทำเพื่อใช้เป็นหลักการในการคำนวณต้นทุนแลความพร้อมในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเชิงพาณิชย์

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook