สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การติดตา การขยายพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิต

การขยายพันธุ์พืชมีด้วยกันหลายวิธีแต่หนึ่งในวิธีที่นิยมปฏิบัติกันคือการติดตา ที่นำ “ตา” ของต้นพืชพันธุ์ดีมาผนึกไว้กับเนื้อเยื่อของต้นพืชอีกพันธุ์หนึ่งหรืออีกชนิดหนึ่งที่มีระบบรากและลำต้นที่แข็งแรง เพื่อให้ต้นตอเกิดกิ่งก้านใหม่ที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเป็นพันธุ์ดีตามที่ต้องการได้ สามารถขยายพันธุ์ได้ในจำนวนสูงโดยไม่ต้องใช้กิ่งพันธุ์ดีมากเกินไปนัก หากมีกิ่งพันธุ์ดีจำนวนจำกัดและต้องการขยายพันธุ์จำนวนมาก เกษตรกรมักเลือกใช้วิธีการติดตามากกว่าวิธีต่อกิ่ง อีกทั้งยังใช้เวลาน้อยกว่าและได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันการเชื่อมต่อระหว่างเนื้อเยื่อของตากับกิ่งพันธุ์เดิมจะแนบกันสนิทและเชื่อมกันได้แน่น ทำให้ไม่เกิดการฉีกขาดออกจากกันได้ง่าย

การติดตาจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของต้นตอและตาที่จะนำมาติด โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้ต้นตอที่เกิดจากการเพาะเมล็ดที่มีอายุ 1-2 ปี เน้นที่เป็นต้นที่มีระบบรากสมบูรณ์ สามารถหาธาตุอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้ดี ทำให้ลำต้นมีความแข็งแรง ซึ่งจะทำให้หลังจากที่มีการติดตาจะเกิดการประสานเนื้อเยื่อเชื่อมติดกันได้เร็วขึ้น ส่วนตาที่จะนำมาขยายพันธุ์นั้นจะต้องเป็นตาใบไม่ใช่ตาดอก สังเกตได้จากลักษณะของตาใบจะแหลมและเรียวกว่าตาดอก และเลือกตาที่อยู่บริเวณกลางกิ่ง ตาใบที่คัดมานั้นควรจะเป็นตาที่สมบูรณ์และอยู่ในระยะพักตัวเพื่อให้เกิดการแตกใบอ่อนและเติบโตได้ดี เมื่อตัดกิ่งที่มีตาพันธุ์ดีมาจากต้นแม่พันธุ์ให้รีบดำเนินการติดตาทันทีเพื่อให้เกิดการเจริญได้ผลที่สุด ทั้งนี้การติดตาจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยผู้ที่มีประสบการณ์สูง เพราะเป็นกระบวนการขยายพันธุ์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการถนอมเนื้อเยื่อให้ได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

การติดตายังมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปโดยคำนึงถึงช่วงวัย ขนาด และลักษณะของเปลือกลำต้นของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ยกตัวอย่างเน การติดตาแบบตัวที (T) ซึ่งมีทั้งแบบ T ปกติและ T แบบแปลง ที่มักจะนำมาใช้กับต้นตอที่มีความสมบูรณ์ เปลือกของลำต้นเหนียว ลอกง่าย และแผ่นตาพันธุ์ดีสามารถลอกได้สะดวก เหมาะกับต้นตอที่มีขนาดไม่ใหญ่ ส่วนต้นตอที่มีขนาดใหญ่และมีเปลือกไม้ที่เมื่อลอกออกมาแล้วจะมียางนั้น จะใช้วิธีการติดตาแบบเปิดเปลือกไม้หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าแบบเพลท แต่หากไม่มีน้ำยางจากเปลือกไม้จะนิยมใช้การติดตาแบบแผ่นปะหรือแพทช์มากกว่า นอกจากนี้ยังมีการติดตาแบบที่ไม่ต้องลอกเปลือกไม้ที่เรียกกันว่าการติดตาแบบชิป ที่เหมาะกับต้นตอที่ลอกได้ยาก

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook