พืชอาหารสัตว์ที่เรารู้จักกันนั้นมีมากมายหลายชนิด ทั้งพืชประเภทหญ้า ข้าวโพด และถั่วต่างๆ ซึ่งพืชตระกูลถั่วนั้นมักจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารหยาบที่สำคัญเพื่อเป็นแหล่งสารอาหารประเภทโปรตีนสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ เป็นต้น แต่เดิมการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องไว้เพื่อใช้แรงงาน อาจจะใช้อาหารหยาบที่มีอยู่ในธรรมชาติตามทุ่งตามนา แต่หากจะเลี้ยงไว้เพื่อให้น้ำนมหรือเนื้อนั้น จะต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่สัตว์จะได้รับด้วย ทำให้ปัจจุบันการทำฟาร์มปศุสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง มักจะมีการปลูกพืชอาหารสัตว์ทั้งหญ้าและถั่วควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มีอาหารสัตว์เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ทั้งปี สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาอาหารหยาบจากแหล่งอื่นได้
ถั่วอาหารสัตว์มีลักษณะของต้นทั้งแบบเถาเลื้อย ที่มักจะปลูกผสมกับการปลูกหญ้า เมื่อยอดต้นถั่วเลื้อยไปเกี่ยวกับต้นหญ้าสัตว์จะสามารถกินทั้งถั่วและหญ้าไปพร้อมกัน โดยส่วนใหญ่จะเลือกปลูก ถั่วเซอราโตและถั่วเซนโตร ส่วนถั่วที่มีลักษณะเป็นต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่ม ความสูงราว 60 เซนติเมตร อย่างถั่วฮามาต้าและถั่วแกรมสไตโล จะเป็นกลุ่มที่ปลูกได้ดีในดินทั่วไป ทนแล้งและเติบโตได้แม้ถูกสัตว์ย่ำเหยียบ และยังมีไม้ขนาดใหญ่ อย่าง แค ไมยราบ กระถิน ที่ทนแล้งได้ดีเช่นกัน มักจะถูกนำมาปลูกเป็นแนวเขตที่ดิน และใช้ร่มเงาไปในตัว โดยทั่วไปเกษตรกรมักจะปลูกทั้งหญ้าและถั่วอาหารสัตว์ไปพร้อมกัน เพราะรากของถั่วที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนสูง จะช่วยทำให้หญ้าเจริญเติบโตได้ดีขึ้นและเป็นการช่วยปรับปรุงดินในแปลงปลูกหญ้าให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกมากขึ้น
ปัจจุบันนอกจากที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จะปลูกถั่วอาหารสัตว์ไว้ใช้องในฟาร์มแล้ว ยังได้มีเกษตรกรบางรายหันมาผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์เพื่อป้อนให้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์อีกต่อหนึ่ง กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับเกษตรกรที่พื้นที่เพาะปลูกมาก ซึ่งการปลูกขายพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วอาหารสัตว์นั้นไม่ยุ่งยาก ยกตัวอย่างเช่น ถั่วฮามาต้า ที่สามารถปลูกในดินทุกชนิด แต่ไม่เหมาะกับดินที่ระบายน้ำยากอย่างดินเหนียวจัด เป็นถั่วที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่สัตว์สูง ทนแล้งได้ดี แต่หากดินไม่อุ้มน้ำเลยอาจจะทำให้พืชไม่งอกงามเท่าที่ควรและมีเมล็ดพันธุ์ให้เก็บเกี่ยวได้น้อย ดังนั้นจะต้องเลือกดินที่ไม่อุ้มน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง และทำการปลูกและขยายพันธุ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเพื่อจะได้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ประเภทเคี้ยงเอื้องเพื่อนำไปปลูกต่อไป