การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมและสภาพแวดล้อมของโลก ยกตัวอย่างเช่น มีการเกิดพายุที่รุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนรายปีเพิ่มขึ้นและลดลงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อภาคการเกษตร เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร และความต้องการปริมาณน้ำที่เปลี่ยนไป จากปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องมีการวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การจัดการทรัพยากรน้ำแบบเดิม จะเน้นเฉพาะปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม แต่เมือมีการ พัฒนาทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของประชากร การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรมีการบริหารความต้องการน้ำชลประทานและปริมาณน้ำท่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ คือ เขื่อนแก่งกระจาน และได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยมาก่อน คณะผู้วิจัยจึงเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะทำการศึกษาประเด็นดังกล่าว รวมไปถึงการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคต และการจำลองการพิบัติของเขื่อนแก่งกระจานด้วย
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ“การวิเคราะห์ทรัพยากรน้ำและอุทกภัยในลุ่มน้ำเพชรบุรีภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิษุวัฒก์ แต้สมบัติ ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กําแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการ ที่เพื่อถอดบทเรียนและหาแนวทางรับมือจากผลกระทบและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ ได้แก่
โครงการย่อยที่ 1 การบริหารความต้องการน้ำชลประทานและปริมาณน้ำท่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการย่อยที่ 2 การประเมินการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำเพชรบุรี
โครงการย่อยที่ 3 การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย
โครงการย่อยที่ 4 การจําลองการพิบัติของเขื่อนแก่งกระจาน
ผลสำเร็จของงานวิจัยโครงการนี้ ทำให้เกิดองค์ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้คาดการณ์ผลกระทบในอนาคต และใช้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมั่นคงและยั่งยืนของลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมเจ้าท่า ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำไปใช้เพื่อป้องกันและเตือนภัย กรมที่ดินนำไปจัดการพัฒนาที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนำไปใช้บริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมในที่สุดและความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในอนาคต