สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ระบบปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมและอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่นแบบลอยน้ำในบ่อดิน

การเลี้ยงหอยนางรมในประเทศไทยยังอาศัยลูกพันธุ์จากธรรมชาติเป็นหลัก แต่ปริมาณลูกหอยนางรมจากธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากการจับหอยนางรมในธรรมชาติมากเกินไปจนทำให้ขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์รวมถึงปัญหามลพิษชายฝั่งทะเลที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น (สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ, 2546) โดยเฉพาะปัญหามลพิษของน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (Choopunth and Tanyaros, 2002) จากการออกสำรวจของผู้วิจัยในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตลูกหอยนางรมจากธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง และพังงา พบว่าปริมาณลูกหอยจากธรรมชาติมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้ราคาลูกหอยขยับสูงขึ้น ๒-๓ เท่าตัว และเกิดสภาวะการขาดแคลนลูกหอยสำหรับการเลี้ยงจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเลี้ยงหอยนางรม การเพาะพันธุ์เพื่อผลิตลูกหอยนางรมจากโรงเพาะฟักเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนลูกพันธุ์จากธรรมชาติ เนื่องจากสามารถควบคุมการผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ (Angell, 1986)  มีผู้วิจัยการเพาะพันธุ์หอยนางรมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์จากระบบโรงเพาะฟัก ได้แก่ จินตนา นักระนาด และคณะ (2530); ทรงชัย สหวัชรินทร์ และคณะ (2532);   สุวัจน์ ธัญรส และคณะ (2543); Tanyaros et al. (2008); Tanyaros (2011); Tanyaros and Kitt (2011) และ Tanyaros et al. (2012) เป็นต้น

ปัญหาการเพาะพันธุ์หอยนางรมจากโรงเพาะฟักที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้วิจัยพบในปัจจุบัน คือ พ่อแม่พันธุ์หอยนางรมที่รวบรวมได้จากฟาร์มและธรรมชาติไม่มีความสมบูรณ์ของเซลล์สืบพันธุ์และไม่สามารถนำมาใช้เพาะพันธุ์ได้ การนำพ่อแม่พันธุ์มาปรับสภาพในระบบโรงเพาะฟักเป็นวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว จากผลการทดลองอนุบาลลูกหอยนางรมจากโรงเพาะฟักในบ่อดินในตะแกรงพลาสติก พบว่าลูกหอยสามารถเจริญเติบโตได้ดีโดยอาศัยอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ่อดิน (Tanyaros and Kitt,  2012, Tanyaros et al., 2015; Tanyaros et al, unpublished data) เนื่องจากอาหารธรรมชาติในบ่อดินประกอบไปด้วยสาหร่ายเซลล์เดียวหลายชนิดส่งผลให้เกิดความสมดุลของคุณค่าทางอาหารต่อหอยนางรม นอกจากนี้ในบ่อดินยังมีองค์ประกอบของอนุภาค clay  ซึ่งสารแขวนลอยชนิดนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและการดูดซึมสารอาหารของหอยนางรม (เอกพล อ่วมนุช, 2542; Sornin et al. 1988; Urban and Kirchman 1992)  ทั้งการปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมและการอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่นในปัจจุบันล้วนแต่ใช้สาหร่ายเซลล์เดียวจากการเพาะเลี้ยงเป็นอาหารทั้งสิ้น ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

คณะผู้วิจัย โดยมี ศาสตราจารย์สุวัจน์ ธัญรส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย จึงมีแนวคิดว่า หากสามารถออกแบบระบบการปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมที่เหมาะสมและยังสามารถนำเอาระบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในการอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่นที่ผลิตจากโรงเพาะฟักได้ นอกจากสามารถลดต้นทุนการผลิตในการเลี้ยงสาหร่ายเซลล์เดียวเพื่อใช้ปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมเพื่อให้มีพ่อแม่พันธุ์ใช้ในการเพาะพันธุ์ได้ตลอดปี ลดปัญหาความไม่สมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมที่โรงเพาะฟักประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถนำเอาระบบดังกล่าวไปใช้ในการอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่นได้อีกทางหนึ่ง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถระบบดังกล่าวในการใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน

 สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการระบบปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมและอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่น แบบลอยน้ำในบ่อดิน” เพื่อให้คณะผู้วิจัยได้พัฒนาระบบปรับสภาพพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมแบบลอยน้ำในบ่อดิน ให้สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์สมบูรณ์พร้อมเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ในโรงเพาะฟักได้ และสามารถมีพ่อแม่พันธุ์ใช้ในการเพาะพันธุ์ตลอดปี ลดปัญหาความไม่สมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติอันเนื่องมาจากความผันแปรของฤดูกาลในปัจจุบัน และนำเอาระบบที่พัฒนาขึ้นมาใช้ในการอนุบาลลูกหอยระยะกึ่งวัยรุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถระบบในการใช้ประโยชน์ จะทำให้เกษตรกรมีลูกพันธุ์สำหรับการเลี้ยงเพียงพอ สร้างรายได้ในอาชีพ รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบของการผลิตลูกพันธุ์หอยนางรมจากโรงเพาะฟักให้กับภาคเอกชนที่สนใจ เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยนางรมของประเทศไทยในอนาคต เพื่อการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมและเพื่อการส่งออก สร้างรายได้นำเข้าประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook