ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอดและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญสำหรับคนไทย โดยข้าวที่นิยมปลูกกันมากที่สุดคือข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นข้าวหอมคุณภาพดีของโลกในด้านกายภาพและรสชาติการบริโภค ทำให้ตลาดการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยมา พื้นที่สำคัญที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพมากที่สุดในประเทศไทยคือพื้นที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีงานวิจัยจากหลายชิ้นที่ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวหอมมะลิ เนื่องจากเป็นดินร่วนปนทราย สภาพเป็นกรดปานกลาง ดินชั้นล่างบางช่วงเป็นดินเหนียวปนทราย มีเกลือละลายปนในดินค่อนข้างสูง ทำให้ดินมีความเค็มฝนระดับที่ข้าวหอมมะลิ ต้องการ และสภาพภูมิอากาศเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้าง อยู่ในเขตศูนย์สูตร (Tropical Savannah Climate)
จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ มีเนื้อที่ทั้งหมด 986,807 ไร่ประกอบด้วยอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี ใน ปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดได้มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา มีวิสัยทัศน์ “เป็นแหล่ง ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานและเมืองสุขภาพในปี 2564” โดยมีพันธกิจในการ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการบริหาร ทรัพยากรและสินค้าการเกษตรให้เป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่ง อาหารปลอดภัย และมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน คือ การเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิและสินค้า เกษตรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิต ข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย (แผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด 2561-2564, สำนักงาน จังหวัดร้อยเอ็ด, 2561) เห็นได้ว่าจังหวัดร้อยเอ็ดได้ผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในการปลูกข้าวหอมมะลิ ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาให้มีผลผลิตมีคุณภาพสามารถนำไปสู่การส่งออกได้ โดยในพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้พบว่าพื้นที่ ปลูกข้าวหอมมะลิได้มากที่สุดคือพื้นที่อำเภอสุวรรณภูมิ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มี จำนวน 473,238 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 449.76 กิโลกรัมต่อไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด, 2559)
คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (วิทยาเขต ณ ทุ่งกุลาร้องไห้) โดยมี ดร.พุทธิพงษ์ หงส์ทอง เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ลงศึกษาภาคสนามเบื้องต้น โดยทำการสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งหลวง และ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 45 ราย จำนวน 98 แปลง ในประเด็นของผลผลิตข้าว รายแปลง ในฤดูการทำนาปี พบว่า เกษตรกรมีผลผลิตต่ำสุดที่ 236 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตสูงสูงสุด 587 กิโลกรัม/ ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 389.4 กิโลกรัม/ไร่ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation: SD) 84.9 แสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างของผลผลิตและมีความแปรปรวนของผลผลิตสูงภายใต้เงื่อนไขสภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะสามารถยกระดับของแปลงที่มีผลผลิตต่ำให้มีผลผลิตที่สูงขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขสภาวะพื้นที่เดียวกัน นอกจากนั้นคณะผู้วิจัย ยังได้ทำการศึกษาเบื้องต้นกับผู้นำหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า ยังขาดข้อมูลการจัดการปลูกข้าวรายแปลง เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยที่มีผลต่อความแปรรปรวนของผลผลิตข้าวรายแปลง ทำให้การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีลงสู่พื้นที่เพาะปลูกบางพื้นที่ยังไม่มีความเหมาะสม เพราะเงื่อนไขในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความแตกต่างกัน
ดังนั้นคณะผู้วิจัยนี้จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัย “การเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่เฉพาะโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชน” โดยมี สวก.เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย เพื่อทำการศึกษาหาปัจจัยและสาเหตุของความแปรปรวนของผลผลิตข้าว เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อความแปรปรวนของข้าวในแต่ละกลุ่มเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผลผลิตสูง กลุ่มผลผลิตปานกลาง และกลุ่มผลผลิตต่ำ เพื่อให้ได้ แนวทางในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรในแต่ละกลุ่มที่ชัดเจน สอดคล้องกับลักษณะบริบทพื้นที่ หาสาเหตุที่ เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และนำสาเหตุดังกล่าวมาเป็นต้นแบบในการปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตในแต่ละกลุ่มเกษตรกร
นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยยังได้ทำการเฟ้นหาเกษตรกรที่สามารถทำผลผลิตได้สูงกว่ารายอื่นที่มีสภาพแวดล้อมของการผลิตคล้ายคลึงกับพื้นที่เป้าหมาย เพื่อทำการถอดบทเรียนในการปฏิบัติ และวิเคราะห์หาวิธีปฏิบัติในการจัดการและดูแลแปลงทั้งระบบ รวมทั้งแนวคิดในการเลือกใช้วิธีการปฏิบัติของเกษตรกรเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการยกระดับผลผลิตข้าวของเกษตรกรอื่น ๆ ในพื้นที่เป้าหมายได้
ผลสำเร็จจากงานวิจัยนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์และเป็นผลดีทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว แนวทางการศึกษายังสามารถใช้เป็นแบบอย่างสำหรับการศึกษาในพื้นที่การปลูกข้าวอื่น ๆ และนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อยกระดับผลผลิตและคุณภาพของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเมืองข้าวหอมมะลิ คุณภาพต่อไป