รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันให้สมุนไทยเป็นความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยโดยมีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 และได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงให้มีการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ คือ ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพตามระบบมาตรฐานการเกษตร
ปัจจุบันตลาดและผู้บริโภคมีความต้องการสมุนไพรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งทุกประเทศได้กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบด้านอาหารปลอดภัย เพื่อป้องกันชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรอินทรีย์ หรือสมุนไพรที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เชื้อรา จุลินทรีย์ สิ่งปนเปื้อนและโลหะหนัก และมีสรรพคุณที่มีประสิทธิผลเป็นที่เชื่อถือ โดยพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมีมากหลากหลายชนิด และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ ขมิ้นชัน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับลม ท้องร่วง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์จากขมิ้นโดยเฉพาะผงขมิ้น ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่นๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น
จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดว่าเป็นแหล่งผลิตขมิ้นชันที่สำคัญแหล่งหนึ่งของภาคใต้ แต่พบว่าการผลิตขมิ้นชันในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรเท่าที่ควร(สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2561) โดยเฉพาะมาตรฐานแหล่งผลิตที่มีการผลิตด้วยหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice :GAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับเกษตรกรที่ครอบคลุมกระบวนการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค และยังไม่มีการนำหลักการการทำเกษตรอินทรีย์มาใช้มากนัก เกษตรกรบางส่วนมักจะคำนึงถึงการเพิ่มผลผลิต คุณภาพภายนอกของผลผลิต และช่วงราคาที่จะได้รับมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ทำให้ผลผลิตขมิ้นชันที่ได้มักมีคุณภาพต่ำ ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน มีสารสำคัญออกฤทธิ์ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีการปนเปื้อนจากสิ่งต่างๆ
สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “แนวทางยกระดับการผลิตขมิ้นชันของเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ได้มาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ และเข้าสู่การเป็น Smart Farmer” โดยมี ผศ. ณัชชารีย์ ทวีหิรัญรัฐกิจ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อยกระดับการผลิตขมิ้นชันของเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยการปฏิบัติตามระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์สำหรับขมิ้นชัน ทำให้เกิดกระบวนการผลิตขมิ้นชันที่ปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกษตรกรมีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต เกิดผลตอบแทนสูงขึ้นในการผลิตขมิ้นชัน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน