การปลูกข้าวโพดในประเทศใช้พันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะกับการปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเป็นหลัก ดังนั้น การปลูกข้าวโพดในฤดูแล้งจึงเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้ปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับการปลูกในฤดูแล้งโดยตรง จากรายงานการวิจัยพบว่าผลผลิตของข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นกว่าอดีต สามารถทำได้โดยการผสมผสานระหว่างการปรับปรุงพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน (Russell, 1991; Duvick 1977; Duvick, 1992; Duvic, 2005) โดยทั้งสองปัจจัยมีส่วนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 50% (Duvick, 2005) ดังนั้น การศึกษาการใช้เชื้อพันธุกรรมข้าวโพดจากต่างประเทศและคัดเลือกเพื่อปลูกในเขตชลประทานในช่วงฤดูแล้งจะทำให้สามารถปรับปรุงผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้นได้ และหากมีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพแปลงปลูกในประเทศไทยที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นในฤดูแล้งได้จริง จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพด และมีผลกำไรมากกว่าการปลูกข้าวในนาปรัง
สวก.ได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเพื่อปลูกในดินนาฤดูแล้งเขตชลประทานภาคกลาง” แก่ทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.ชูศักดิ์ จอมพุก เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในการวิจัยโครงการระยะที่ 1 คณะผู้วิจัยได้ใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์มาตรฐาน(conventional breeding) แล้วนำไปทดสอบผลผลิตในสภาพดินนาเพื่อหาความเหมาะสมในการปลูกในดินฤดูแล้งในเขตชลประทานภาคกลางเป็นระยะเวลา 3 ปี ได้ผลผลิตที่ดี สำหรับโครงการในระยะที่ 2 ทีมผู้วิจัยได้นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวที่ได้จากการพัฒนาพันธุ์และให้ผลผลิตดีจากการทดสอบผลผลิตเบื้องต้น 2 ฤดูปลูกในสภาพแปลงทดสอบผลผลิตที่ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 40 คู่ผสม มาปลูกทดสอบผลผลิตในสภาพดินนาฤดูแล้งเขตชลประทาน ในขณะเดียวกันเกิดการผสมตัวเองของสายพันธุ์พ่อแม่เพื่อเพิ่มระดับความคงตัวทางพันธุกรรม (homozygosity) มากขึ้นจนเป็นสายพันธุ์แท้ (inbred line) และทำการทดสอบผลผลิตในส่วนของพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวที่ดีในดินนาฤดูแล้งเขตชลประทานภาคกลาง 3 ปีต่อเนื่องและทราบถึงเสถียรภาพของพันธุ์
ตลอดจน คัดเลือกลูกผสมเดี่ยวที่ให้ผลผลิตสูงและมีเสถียรภาพของพันธุ์ดี จำนวน 2 พันธุ์ คือ Kei 1420 x Ki 60 (1,346 กก./ไร่) และ Kei 1521 x Ki 60 (1,342 กก./ไร่) นำไปปลูกทดสอบผลผลิตในแปลงทดสอบผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ และหลายสภาพแวดล้อม ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดในดินนาฤดูแล้งที่มีในปัจจุบัน และศึกษาลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญของสายพันธุ์แท้ที่ให้ลูกผสมเดี่ยวที่ดี คือ สายพันธุ์ Kei 1420 Kei 1521 และ Ki 60 สำหรับใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์เชิงอุตสาหกรรมในสภาพ isolation
ผลสำเร็จของโครงการวิจัยนี้ทำให้เกิดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดดี ไม่มีปัญหาอะฟลาทอกซินที่สามารถปลูกทดแทนการทำข้าวนาปรังได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มฤดูการปลูกข้าวโพดที่ตอบสนองต่อความต้องการข้าวโพดของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในฤดูแล้ง และช่วยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ประหยัดการใช้น้ำชลประทาน และตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว สนองนโยบายของรัฐบาลในการลดการผลิตข้าว และประหยัดการใช้น้ำชลประทาน