สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดไมคอร์ไรซา

เมื่อเอ่ยคำว่า เห็ดไมคอร์ไรซา หลายคนอาจจะฉงนว่าคือเห็ดต่างประเทศหรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เห็ดหลายชนิดที่เรานำมาบริโภคและรู้จักกันดี อย่าง เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า นั้นก็จัดว่าเป็นเห็ดไมคอร์ไรซานั่นเอง ซึ่งเราจะพบได้ทั่วไปบนพื้นดินแต่ก็มีบางชนิดที่มีดอกเห็ดอยู่ใต้ดิน โดยเห็ดประเภทนี้มีหลายพันธุ์ชนิดทั่วโลก มีทั้งแบบที่รับประทานได้และแบบที่มีพิษ

เห็ดไมคอร์ไรซาจะเกิดขึ้นในป่าช่วงฝนตก เพราะเห็ดประเภทนี้คือเชื้อราที่อิงอาศัยบริเวณรากของต้นไม้ ที่ชื่นชอบความชุ่มชื้นอย่างมาก แต่เป็นคนละชนิดกับเชื้อราที่เป็นบ่อเกิดของโรคพืช เห็ดประเภทนี้จัดเป็นราที่ดี เพราะช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุอาหารและน้ำให้แก่พืชอาศัย โดยเห็ดจะพึ่งพาอาหารจากไม้อาศัยเช่นกัน เป็นลักษณะของระบบนิเวศของธรรมชาติที่พืชแต่ละประเภทส่งเสริมการเจริญต่อกันได้  โดยรากของพืชที่เห็ดเหล่านี้อาศัยจะมีนับพันชนิดทั่วโลก ทั้งไม้สน มะค่าโมง ไม้ในกลุ่มยาง เต็ง รัง และไม้อีกหลายชนิด ทำให้เราสามารถหาเห็ดป่าเหล่านี้ได้ตามป่าที่มีต้นไม้ต่างๆ ที่กล่าวถึงมาแล้ว

เห็ดไมคอร์ไรซา จะมีเส้นใยบางๆ เล็กๆ กระจายอยู่ทั่ว ทำให้แผ่ลึกลงไปในชั้นดินได้ดี และมีบทบาทคล้ายรากฝอยของต้นพืชที่ช่วยดูดซึมธาตุอาหารและน้ำในดินในบริเวณที่รากพืชหยั่งลงไม่ถึง เพื่อนำมาเลี้ยงต้นอาศัย ทำให้พืชเหล่านั้นมีน้ำไว้หล่อเลี้ยงแม้ในยามหน้าแล้งก็ตาม และเห็ดไมคอร์ไรซายังสร้างกรดอินทรีย์เพื่อป้องกันโลหะหนักที่เป็นพิษในดินไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรากพืช และป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคพืชเข้ามาทำลายต้นพืชได้ ทำให้พืชที่มีเห็ดเหล่านี้อาศัยอยู่มีการเจริญเติบโตที่ดี ระบบรากของต้นพืชมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นพืชมีอายุยืนยาวขึ้น

นอกจากนี้เห็ดไมคอร์ไรซา นอกจากจะช่วยบำรุงระบบรากของต้นพืชแล้ว ยังจัดว่าเป็นอาหารอันโอชะของผู้บริโภค ทั้งรสชาติที่ดี เห็ดมีเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์และอุดมด้วยสารอาหารที่ดี ที่ผู้บริโภคยอมซื้อหาในราคาที่สูงกว่าราคาเห็ดทั่วไป เพราะเห็ดเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกนำมาเพาะเลี้ยงมากนัก ส่วนใหญ่ต้องเข้าไปเก็บจากในป่าที่มีต้นไม้อาศัยชุก และสามารถเก็บได้เพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น ทำให้หาบริโภคได้ยาก และราคาขายในท้องตลาดจึงสูงขึ้นตามไปด้วย จนเพื่อนๆ เกษตรกรหลายรายหันมาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาร่วมกับคณะผู้วิจัยหลายแห่ง จนปัจจุบันมีบางชุมชนสามารถเพาะเห็ดเหล่านี้ได้ แต่ยังไม่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อตลาดที่มีแนวโน้มต้องการสูงขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook