ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าในประเทศไทย โดยร้อยละ 95 ของผลผลิตได้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศและส่งออกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวโพดได้เพียงปีละ 4-5 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 6-8 ล้านตัน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลีจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการผลิตอาหารสัตว์
ข้าวโพดที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน โดยต้นฤดูฝนคิดเป็น 72% ของการปลูก รองลงมาคือปลายฤดูฝน 23% และฤดูแล้ง 5% ส่งผลให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ล้นตลาดในช่วงฤดูฝน ผลผลิตอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราและส่งผลให้ราคาขายในตลาดลดลง นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมากกว่าครึ่งเป็นพื้นที่บุกรุกป่าถึง 3.67 ล้านไร่ คิดเป็น 52% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด 7.03 ล้านไร่ ประเด็นดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหากับประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ที่อาจใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้า เพื่อป้องกันปัญหานี้ บริษัทเอกชนรายใหญ่จึงได้มีนโยบายไม่รับซื้อผลผลิตที่ปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านแทน
พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ พันธุ์ข้าวโพดที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสม (F1 hybrid) ที่ได้จากเอกชนหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นการปลูกข้าวโพดในอดีตจึงเป็นการผูกขาดของเอกชนที่มีต่อเกษตรกรในด้านการใช้พันธุ์ข้าวโพด ขณะที่ข้าวโพดเป็นพืชที่มีการตอบสนองต่อสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการจัดการของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่เฉพาะได้มากที่สุด และเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรหรือกลุ่มลูกค้าเฉพาะพื้นที่ให้สอดคล้องกับปริมาณพื้นที่ปลูกและความต้องการพันธุ์ข้าวโพดในพื้นที่หลังการทำนาหรือข้าวโพดรุ่น 2 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมกับการปลูกหลังนา มีระบบรากที่แข็งแรง อายุค่อนข้างสั้น ต้านทานโรคเฉพาะถิ่นได้ดี และให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีข้อจำกัดของพื้นที่ 2 ปัจจัย ได้แก่ สภาพอากาศที่หนาวเย็นและอุณหภูมิต่ำในช่วงหลังฤดูทำนา (พฤศจิกายนถึงมกราคม) ส่งผลต่อระยะเวลาเพาะปลูกและการเจริญเติบโต ซึ่งอาจส่งผลให้การเจริญเติบโตและสามารถเก็บเกี่ยวได้ช้าลง และหากปลูกข้าวโพดช้าเกินไป อุณหภูมิที่สูงระหว่างการออกดอกและการผสมเกสรอาจทำให้เกิดปัญหาในการผสมและการติดเมล็ด และต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวโพดให้เสร็จก่อนฤดูฝน
ปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลต่อลักษณะของพันธุ์ใหม่และอายุของพันธุ์ที่เหมาะสมที่พัฒนาขึ้นใหม่ ให้งอกได้ดีและเติบโตได้ดีในช่วงเดือน ธันวาคม – มกราคม ภายใต้อุณหภูมิต่ำ สามารถออกดอกและผสมเกสรได้ในอุณหภูมิสูง และสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์ปกติ ดังนั้นเชื้อพันธุกรรมที่ใช้จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะพันธุ์เบาที่เก็บได้เร็ว และการพัฒนาพันธุ์แท้นั้นต้องทำการคัดเลือกและทดสอบในฤดูปลูกหรือช่วงเวลาหลังการทำนา เพราะหากไม่ได้คัดเลือกในช่วงเวลาดังกล่าวโอกาสที่จะใช้สายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วสร้างพันธุ์ลูกผสมได้สำเร็จน่าจะเป็นไปได้น้อย จึงต้องเพิ่มเชื้อพันธุกรรมที่จำเป็นเข้าไปในโครงการโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่-เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เพื่อพัฒนาต่อเนื่องจาก “โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของมหาวิทยาลัยพะเยา” (University of Phayao Maize Improvement; UPMI) ซึ่งได้ผ่านการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยมีเป้าหมายให้ได้มาซึ่งพันธุ์ลูกผสม (F1 hybrid) ที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ดังกล่าว ให้ได้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมในเชิงธุรกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่และสามารถจะแข่งขันกับพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมทางการค้าของภาคเอกชนได้ โดยมุ่งเน้นการคัดเลือกให้เหลือพันธุ์ดีเด่น 1-2 พันธุ์ ที่สามารถเจริญเติบโตและปรับตัวได้ดีในพื้นที่และพัฒนาต่อยอดขอรับการรับรองพันธุ์และคุ้มครองพันธุ์เพื่อส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย (SMEs) ที่ต้องการจะได้รับสายพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสมเพื่อไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนเองต่อไป