จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกมีลักษณะทำเลที่ตั้งเป็นที่ลุ่มต่ำและมักจะประสบปัญหาน้ำท่วม เมื่อมีฝนตกหนักในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนมักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากในลุ่มแม่น้ำยม ลักษณะของพื้นที่เป็นรูปกรวยและคดเคี้ยวทำให้การระบายน้ำช้าลงและทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง นำไปสู่น้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยในท้องที่เป็นบริเวณกว้าง
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการบางระกำโมเดล (การขยายผลในปี 2563) โดยวางแผนส่งน้ำสำหรับการปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรได้เริ่มปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำและชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เช่น ระดับน้ำ พื้นที่น้ำท่วม ปริมาตรน้ำท่วม และ ระยะเวลาการระบายน้ำยังต้องอาศัยการคาดการณ์จากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ชลประทานและชาวบ้านที่ประสบเหตุ แต่การพยากรณ์ขาดความแม่นยำ ทำให้ยากต่อการนำข้อมูลไปใช้เตือนภัยและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้
เพื่อให้การเตือนภัยน้ำท่วมและเกิดการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สามารถประเมินการเคลื่อนตัวของน้ำ ประเมินปริมาณน้ำท่วมในพื้นที่ และประเมินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ จากการสำรวจของสำนักงานชลประทานที่ 3 ในช่วงฤดูฝน ปี 2563 พบว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและระดับน้ำท่วม ส่งผลให้การวางแผนกิจกรรมการเกษตรและการประมงของประชาชนในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ เช่น การเตรียมกล้าพันธุ์พืช และการเตรียมอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำไม่มากนัก เนื่องจากข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้
ขณะที่เครื่องมือที่ใช้วัดระดับน้ำในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างแพง และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูง ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์เหล่านั้นได้ทั่วถึง ดังนั้น เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 3 จึงได้พัฒนาเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำจากภาพถ่ายกล้องวงจรปิด ซึ่งจะใช้วิธีประเมินระดับน้ำกึ่งอัตโนมัติ Semi GIC โดยใช้เจ้าหน้าที่ประเมินภาพและรายงานระดับน้ำจากภาพถ่ายกล้องวงจรปิด ซึ่งกระบวนการประเมินน้ำท่วมแบบกึ่งอัตโนมัติจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในสำนักงานประเมินภาพถ่าย ซึ่งต้องการความต่อเนื่องในการประเมินและความเชี่ยวชาญของพนักงาน ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลที่ต้องการได้ในช่วงเวลานอกเวลาทำการ
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้คณะผู้วิจัยดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ กรณีศึกษาโครงการบางระกำโมเดล” ขึ้น เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการตรวจวัดระดับน้ำที่มีความแม่นยำ นำเทคนิควิธีการทางด้านสารสนเทศ ภูมิสารสนเทศ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่ทันสมัยมาใช้ พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ทำให้ทราบสถานการณ์น้ำปัจจุบันและความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม ระยะเวลาการท่วมขังของน้ำ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อรับทราบข้อมูลและการแจ้งเตือนได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นในการประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมต่อพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ระบบการจัดการข้อมูลด้านน้ำแบบ Real Time ยังช่วยให้กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 3 นำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อการบริหารจัดการน้ำและแจ้งเตือนสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงในระดับพื้นที่ และทำให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพ ข้อมูลเป็นระบบระเบียบและมีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้สูง จึงถือว่าผลงานวิจัยในโครงการนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการวางแผนการเพาะปลูกได้ดีขึ้นตามมาด้วย