ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก เติบโตในพื้นที่ราบทางตะวันออกของภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงพัทลุง สงขลา และปัตตานี เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชนี้ตามแนวคันนา มีต้นปาล์มเฉลี่ย 20 ต้นต่อไร่ในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจหนาแน่นถึง 110 ต้น ในอำเภอสทิงพระเพียงแห่งเดียวมีต้นปาล์มมากกว่า 500,000 ต้น และเมื่อพิจารณาภาพรวมของจังหวัดสงขลาแล้ว มีต้นตาลโตนดจำนวนประมาณ 3 ล้านต้น
ตลาดน้ำคลองแดน(Klongdaen Floating Market) ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่น ตลาดแห่งนี้ได้นำทรัพยากรธรรมชาติและมีการแสดงทางวัฒนธรรมริมคลองทุกวันเสาร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน อาศัยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นรากฐาน ทำให้มั่นใจได้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นที่การเน้นเสน่ห์ของธรรมชาติและองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมมีโอกาสสัมผัส เรียนรู้ และเข้าใจศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของท้องถิ่น
จากการที่คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชน ได้ค้นพบประเด็นสำคัญที่สามารถสรุปได้ว่า ประการแรก ในปัจจุบันตลาดน้ำแห่งนี้มีสินค้าจำกัด และสินค้าที่จำหน่ายมีราคาไม่สูงมากนัก ประการที่สอง แม้ว่าจะมีใบตาลโตนดจำนวนมาก แต่มีการนำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย และประการสุดท้าย เศษเหลือจากการแปรรูปของใบตาลโตนดถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับชุมชน เนื่องจากต้องเผาหรือกำจัดด้วยวิธีที่ทำให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ดังนั้นจากความอุดมสมบูรณ์ของใบตาลในพื้นที่ จึงมีโอกาสอย่างมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร เพราะผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เร็วก็ได้รับความนิยมและมีความสำคัญมากขึ้น
คาบสมุทรสทิงพระเป็นแหล่งทรัพยากรใบตาลโตนดที่อุดมสมบูรณ์ และด้วยความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว การพัฒนาภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากใบตาลโตนดจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาสามารถแปรรูปใบตาลโตนดเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสำหรับทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือโฟม
คณะผู้วิจัยจึงมีการศึกษาเบื้องต้นโดยทดลองอัดขึ้นรูปใบตาลโตนดด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส แรงดัน 20 บาร์ และเวลาอัด 3 นาที แม้ว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จในการขึ้นรูปใบตาลโตนดเป็นภาชนะบรรจุอาหารได้ แต่การคงรูปของภาชนะจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุปัจจัยที่เอื้อต่อการขึ้นรูปภาชนะบรรจุอาหาร ขณะเดียวกันก็พิจารณาว่าสารชนิดใดเหมาะสมที่สุดสำหรับการเคลือบผิวภาชนะบรรจุอาหาร ให้ความทนทาน ลดอัตราการซึมน้ำ ป้องกันเชื้อรา รวมไปถึงการออกแบบรูปแบบที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ การออกแบบโมเดลให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การร่วมคิดร่วมทำระหว่างชุมชน นักวิจัย และผู้ใช้ปลายทาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม
สวก. จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “นวัตกรรมการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากใบตาลโตนด” โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการวิจัยตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาเครื่องขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารอาหารจากใบตาลโตนดที่สามารถใช้ในการผลิตและสามารถใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้กับอาหาร และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยใช้สารออร์แกนิกส์เคลือบภาชนะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพิ่มความคงทน ลดการซึมน้ำ และป้องกันเชื้อราในบรรจุภัณฑ์ นอกจากด้านเทคนิคแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์รูปแบบผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหารตามความต้องการของตลาด ตลอดจนการจัดทำแผนธุรกิจและทดสอบตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนให้สามารถนำความรู้ไปสร้างโอกาสทางอาชีพและขยายประโยชน์สู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก อีกทั้งยังเป็นการนำผลผลิตจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย