สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจไวรัสในพืชผลสดเพื่อส่งเสริมคุณภาพอาหารปลอดภัย

ในขณะที่ผู้คนหันมารับประทานผักและผลไม้สดมากขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดี สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน มีรายงานการเจ็บป่วยจากอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากแบคทีเรียหรือไวรัสที่อยู่ในอาหารของเรา แม้ว่าจะมีการตรวจไม่พบแบคทีเรียในอาหาร แต่ควรมีการตรวจหาไวรัสด้วย  การศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าไวรัสก่อโรคผ่านทางเดินอาหาร (enteric viruses) เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยมีสถิติที่สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 45% และในสหภาพยุโรป 13.1% โดยมีโนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบเอ เป็นที่อาจเชื่อมโยงกับอาหารหลากหลายชนิด รวมถึงหอยสองฝา อาหารพร้อมรับประทาน และผักผลไม้สด

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของไวรัสในความปลอดภัยของอาหาร คณะกรรมการ Codex สาขาสุขลักษณะอาหาร (Codex Committee on Food Hygiene: CCFH)  จึงได้เชิญองค์การอาหารและเกษตรแห่ง สหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสในอาหาร จัดทำรายงานที่ให้คำแนะนำทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการจัดการความเสี่ยง ในปี 2559 คณะกรรมการ Codex ยังตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาแนวปฏิบัติสำหรับไวรัสในอาหาร ซึ่งนำไปสู่การออกแนวปฏิบัติของ Codex ว่าด้วยการประยุกต์หลักการทั่วไปของสุขอนามัยอาหารเพื่อควบคุมไวรัสในอาหารในปี 2555 ประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของ Codex จะต้องปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก เช่น หอยกาบและผักผลไม้สด ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและวิธีการตรวจหาไวรัสในอาหาร

โนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัส 2 ประเภทที่ติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ผ่านทางระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าผ่านทางอุจจาระและเข้าทางปาก (fecal-oral route) สามารถติดต่อระหว่างคนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะขับเชื้อไวรัสออกมาทางอุจจาระ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย อนุภาคไวรัสก่อโรคผ่านทางเดินอาหารไม่มีเปลือกไขมันหุ้ม (non enveloped) ทำให้ค่อนข้างทนทานต่อสภาวะแวดล้อม การใช้น้ำเสียในการเพาะปลูกและน้ำชลประทานสำหรับผลิตพืชผลสดสามารถนำไปสู่การติดเชื้อไวรัสและการระบาดได้ สำหรับประเทศไทยได้มีรายงานการพัฒนาวิธีการตรวจหาโนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบเอในหอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ น้ำชลประทาน และกากตะกอนน้ำเสีย รายงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารกำลังแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม และอาจปนเปื้อนมากับผักและผลไม้สด ซึ่งนำไปสู่การแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้บริโภคได้

กระบวนการตรวจหาไวรัสในอาหารเกี่ยวข้องกับการสกัดไวรัส การสกัด RNA และการระบุไวรัส หน่วยงานจัดการความปลอดภัยด้านไวรัสของอาหารกำหนดวิธีการ ISO/TS 15216-1 และ ISO/TS 15216-2 (2013) สำหรับการวัดปริมาณและการตรวจหาโนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบเอในหอยกาบและผักผลไม้สดตามลำดับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ISO/TS 15216-1 ได้รับการอัพเดตเป็น ISO 15216-1 (2017) และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีรายงานการพัฒนาวิธีการตรวจหาโนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบเอในหอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ น้ำชลประทาน และกากตะกอนน้ำเสีย รายงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารกำลังแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม และอาจปนเปื้อนในผักผลไม้สด ซึ่งนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่ผู้บริโภค แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายงานตรวจพบไวรัสในหอยกาบคู่และน้ำจากสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ยังไม่มีรายงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยด้านไวรัสในผักสดและผลไม้ อาจเป็นเพราะในพืชผลสดเหล่านี้มีไวรัสปนเปื้อนในปริมาณที่น้อยมาก และ/หรือมีสารยับยั้งอาร์ที-พีซีอาร์

สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจไวรัสในพืชผลสดเพื่อส่งเสริมคุณภาพอาหารปลอดภัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคในผักผลไม้สดตามมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยระดับชาติและนานาชาติ ทีมวิจัยได้ปรับปรุงวิธีการสกัดไวรัสจากผักผลไม้สดและตรวจไวรัสตามวิธีมาตรฐาน (ISO15216) หาความไว (sensitivity) และปริมาณไวรัสน้อยที่สุดที่ตรวจพบได้ (detection  limit) ในพืชผลสด โดยใช้วิธี reverse transcription-quantitative polymerase chain reaction (RT-qPCR) ทีมงานจะตรวจหาและหาปริมาณโนโรไวรัสและไวรัสตับอักเสบ เอที่ปนเปื้อนในพืชผลสดตัวอย่าง โดยใช้ RT-qPCR และตามด้วย DNA sequencing และ   phylogenetic analysis

ผลการศึกษาดังกล่าวนับเป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยของพืชผลของประเทศไทย ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการยอมรับอาหารที่ส่งออกจากประเทศไทย ที่ได้ผ่านการตรวจไวรัสตามวิธีมาตรฐาน  อีกทั้งยังยกระดับศักยภาพห้องปฏิบัติการของไทย  การวิจัยยังนำไปสู่วิธีการตรวจหาไวรัสในอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคระบาดจากโนโรไวรัสที่เกิดจากอาหารเป็นสื่อทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook