มะขามเทศเป็นผลไม้พันธุ์พื้นเมืองของไทยเรา พบได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ มีความสามารถทนต่อสภาวะอากาศและปรับตัวได้ดีในทุกสภาพดิน พบปัญหาแมลงศัตรูน้อยมาก มะขามเทศมีรสชาติออกหวานมันผสมกับรถฝาดนิดๆ เป็น 1 ใน 10 อันดับของผลไม้ที่มีวิตามินซีและอีสูง ด้วยวิตามินซีเป็นวิตามินที่ร่างกายใช้ในการสร้าง Collagen ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวหนัง หลอดเลือด รวมถึงกระดูกและฟัน ส่วนวิตามินอีเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการลดการอุดตันของหลอดเลือดและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ ช่วยปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ด้วยเส้นใยที่มีอยู่สูงในมะขามเทศที่มีผลต่อระบบขับถ่าย ส่วนแคลเซียมและเหล็กจะช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและโรคโลหิตจาง
มะขามเทศได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดสายพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์ที่มีรสชาติดีขึ้น ตัวฝักมะขามสมบูรณ์ขึ้น ทำให้ยิ่งเพิ่มความนิยมในการบริโภคในตลาด และยังเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ง่าย การดูแลไม่มากมาย ทนต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดี จึงเหมาะกับพื้นที่ห่างไกลระบบชลประทานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย หรือจะปลูกไว้เป็นพืชริมรั้วเพื่อไว้เก็บผลไว้รับประทานในครัวเรือนก็ไม่ว่ากันครับ
การปลูกมะขามเทศนั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อไปขายได้ภายในระยะเวลา 1 ปี เพราะเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว หากเราปลูกพันธุ์ฝักใหญ่ ยิ่งได้น้ำหนักดี และมีรสชาติหวานอร่อย หากเรามีการแปลงปลูกดี ดินดี อินทรียวัตถุเยอะ จะยิ่งทำให้ผลผลิตมีราคามากขึ้น ดังนั้นเราต้องเตรียมหลุมรอปลูกขนาด 0.5*0.5*0.5 เมตร เมื่อขุดแล้วก็ปล่อยให้แดดฆ่าเชื้อโรคในดิน 14 วัน แล้วจึงนำดินที่เราผสมปุ๋ยคอกแล้วเทใส่หลุมละ 2 กิโลกรัม นำต้นพันธุ์ลงปลูกแล้วกลบดิน รดน้ำทุกวัน จนกว่าต้นจะตั้งตรงแข็งแรง จึงค่อยเว้นระยะในการรดน้ำ โดยเฉลี่ยแล้วหากทำแลงแบบยกร้องจะสามารถปลูกต้นมะขามเทศจำนวนประมาณ 20 ต้นต่อไร่ แต่หากไม่ได้ยกร่องจะปลูกได้เพียง 15 ต้นต่อไร่ เมื่อต้นโตเต็มที่เราก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก แต่ควรให้ปุ๋ยเป็นระยะเพื่อเพิ่มความเจริญเติบโตให้ต้นมะขามเทศ เพื่อเราจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เยอะขึ้นนะครับ
พันธุ์มะขามเทศถูกแบ่งกลุ่มไว้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ แยกตามคุณลักษณะ ได้แก่ สายพันธุ์ฝักใหญ่ ที่ให้ผลผลิตประมาณ 15 ฝักต่อกิโลกรัม สีเปลือกฝักจะเป็นสีเขียวอมขาวแซมด้วยสีชมพูเข้ม ฝักโค้งเกือบเต็มวง ทรงต้นจะเป็นพุ่มใหญ่กินพื้นที่กว้าง รสชาติหวานมัน เนื้อผลสีขาว ส่วนสายพันธุ์ฝักขนาดกลาง จะมีผลผลิต 30 ฝักต่อกิโลกรัม รสชาติใกล้เคียงกับพันธุ์ฝักใหญ่ และสายพันธุ์สุดท้ายคือสายพันธุ์พื้นเมือง ต้องใช้ถึง 30 ฝักต่อกิโลกรัมเลยครับ เพราะว่าผลเล็ก รสมีความฝาดเจือปนครับ ก็เลือกกันได้เลยนะครับ ว่าจะปลูกพันธุ์ไหนกันดีครับ