ไก่พื้นเมือง เป็นไก่ที่คนไทยเราเลี้ยงกันมายาวนานตามวิถีเกษตรกรรมครัวเรือน แต่เดิมนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อเก็บผลผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน โดยปล่อยให้ไก่ออกคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเองเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อสังคมเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีความต้องการไก่หลากหลายสายพันธุ์เพื่อใช้ในการบริโภค เกิดการซื้อขายในตลาดมากขึ้น จึงเกิดการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเชิงพาณิชย์และมีการศึกษา ปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตมากขึ้นจนเกษตรกรหลายรายประกอบเป็นอาชีพหลัก ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงได้พัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองและส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ไก่ที่มีมาตรฐานเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค
ไก่พื้นเมืองที่เราคุ้นชื่อกันดีคงจะเป็น ไก่แจ้ แต่ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่น่าสนใจ เริ่มกันที่ไก่อู ว่ากันว่าเป็นต้นตระกูลของไก่ชน ตัวผู้จะมีพฤติกรรมชอบชนและจิกตี ถัดมาจะเป็นไก่ตะเภาที่มีเนื้อน่ารับประทาน มีความนุ่มและรสชาติดี ไก่อีกพันธุ์ที่นิยมนำมารับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพ คือ ไก่ดำ ที่ทั้งปากและลำตัวทั้งหมดเป็นสีดำ และอีกพันธุ์หนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือพันธุ์เบตง ที่มีเนื้อไก่นุ่มลิ้น ที่มักนิยมนำมารับประทานคู่กับข้าวมันไก่
กลับมาพูดถึงไก่ประดู่หางดำ ที่เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ จนมีลักษณะเด่น ที่ “โตดี ไข่ดก อกกว้าง” เป็นไก่ที่มีตัวสูง ลำตัวยาวและมีความลึก มีหน้าอกกว้าง บึกบึน ให้ไข่ดก ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยมีไก่ ประดู่มะขาม ประดู่แสมดำมะขาม ประดู่แข้งเขียวตาลาย และประดู่แดง ที่มักนิยมในแวดวงการเลี้ยงไก่สวยงาม จนได้รับการรับรองพันธุ์จากจากสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง นอกจากนี้ยังมีไก่ประดู่หางขาว ไก่ซี ไก่แดง ไก่เขียวหางดำ ที่น่าสนใจนำมาเลี้ยง
สำหรับที่ใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองนั้นมักเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นรำข้าว ข้าวเปลือก ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น ให้มีคุณค่าครบถ้วนทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ จากคู่มือ”พันธุ์และการเลี้ยงไก่พื้นเมือง” ของกรมปศุสัตว์ได้ระบุว่า สูตรอาหารที่เหมาะสมในการนำมาเลี้ยงไก่พื้นเมือง 0-2 เดือนนั้น ควรประกอบด้วย หัวอาหารเม็ด รำ ปลายข้าว และเมื่อลูกไก่อายุมากกว่า 2 เดือน ต้องเพิ่มเปลือกหอยป่นเข้าไปด้วย
การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อจะเก็บไข่ไว้รับประทานในครัวเรือนนั้น ควรเก็บไข่ทุกเช้าและเหลือทิ้งไว้ในเล้าไก่เพียงใบเดียว ซึ่งการเก็บไข่นั้นให้เก็บไข่ที่ออกมาก่อนเสมอ แล้วจึงเหลือไข่ใบใหม่ทิ้งไว้ในเล้าเท่านั้น และหากพบว่าแม่ไก่ไม่ออกไข่ให้แยกออกจากเล้าไก่โดยไม่ควรรอให้แม่ไก่ฟักไข่ แล้วขุนด้วยอาหารไก่ไข่ และนำตัวผู้ไปขังไว้อยู่กับแม่ไก่ในเล้าที่แยกไว้ราว 5 วัน แม่ไก่จะเริ่มให้ไข่เช่นเดิม ทำให้สามารถได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องเก็บไว้ทำอาหารได้สบายเลย