สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การเพาะเลี้ยงปลาทะเล ก่อนเลี้ยงปลากะพงในกระชังต้องเข้าใจเรื่องนี้

เมื่อเอ่ยถึงการเลี้ยงปลาทะเลหรือปลาน้ำเค็มนั้น หลายคนคงจะคิดถึงปลาประพงขาวเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นปลาน้ำเค็มที่ได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีผู้เลี้ยงบางรายที่มีการเลี้ยงปลาช่อนทะเล ปลากะพงแดง ปลากะรังและปลานวลจันทร์ทะเลอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งกระบวนการและเทคโนโลยีการเลี้ยงไม่แตกต่างกันมากนัก ในพื้นที่ตามแนวฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน มีการเลี้ยงปลาน้ำเค็มในกระชังซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งปลาน้ำกร่อยอีกด้วย โดยการเลี้ยงในกระชังจะลดภาระเรื่องเงินลงทุนทำบ่อและระบบน้ำได้สูงมาก และยังสามารถจับปลาได้สะดวกกว่า เหมาะแก่การเลี้ยงปลาที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจนสูงมากนักและให้ผลผลิตดี สำหรับกระชังที่ใช้ในการเลี้ยงปลานั้นส่วนมากเกษตรกรนิยมใช้กระชังอวนที่มีวัสดุที่สามารถใช้งานได้ยาวนานและสามารถเลือกขนาดความถี่ให้เหมาะกับพันธุ์ปลาและช่วงวัยของปลา

สำหรับบทความเรื่อง การเพาะเลี้ยงปลาทะเล บทนี้ จะเขียนถึงการเลี้ยงปลากะพงขาวด้วยวิธีการเลี้ยงในกระชังเพราะเป็นวิธีที่ประหยัดงบประมาณการลงทุนมาก สิ่งสำคัญในลำดับแรก คือ การเลือกทำเลในการทำฟาร์มที่เป็นบริเวณชายฝั่งทะเลหรือปากแม่น้ำ ที่มีน้ำไหลเวียนดี ระดับน้ำขึ้นลงเสมอ โดยระดับน้ำควรลึกมากกว่า 2 เมตรในขณะที่น้ำลงต่ำสุดสำหรับการเลี้ยงแบบกระชังลอยน้ำ ส่วนการเลี้ยงแบบกระชังประจำที่กลับต้องมีน้ำขึ้นสูงสุดไม่เกิน 2.5 เมตรและมีน้ำลงต่ำสุดไม่เกิน 1.9-2.0 เมตร  ไม่มีคลื่นลมแรงเกินไปจนเกิดความเสียหายต่อกระชัง ไม่มีการปนเปื้อนของน้ำทิ้งหรือน้ำเสีย ไม่ใช่เส้นทางเดินเรือ แต่เราต้องสามารถเข้าไปยังกระชังได้สะดวก

กระชังที่ใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาทะเลจะมีอยู่ด้วยกัน 2 โครงสร้างคือกระชังแบบประจำที่ซึ่งในบริเวณจะต้องปักเสาไว้กับดินให้มั่นคงแล้วยึดกระชังไว้กับเสาอย่างแน่นหนา ซึ่งจะพบได้แถบทะเลฝั่งอ่าวไทย ส่วนทางฝั่งอันดามันจะนิยมใช้กระชังแบบลอยน้ำ ที่กระชังจะลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ โดยกระชังจะถูกยึดติดไว้กับทุ่นลอยหรือแพ โดยการติดตั้งกระชังนั้นต้องติดตั้งให้เหมาะกับทิศทางลมและกระแสน้ำ และต้องมีสมอยึดทุ่นลอยหรือแพไว้ และต้องเว้นระยะห่างระหว่างกระชังให้เพียงพอต่อการไหลเวียนของน้ำ

ความสะอาดของกระชังในการเพาะเลี้ยงปลาทะเลมีผลต่อการกินอาหารและขนาดของปลา ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงควรทำความสะอาดกระชังทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อทำให้น้ำหมุนเวียนเข้ากระชังได้สะดวกและยังเป็นการสำรวจความเสียหายของกระชังเพื่อจะได้ซ่อมแซมได้ทันท่วงทีและควรมีกระชังสำรองไว้เปลี่ยนในช่วงที่นำกระชังขึ้นมาทำความสะอาด

การเพาะเลี้ยงปลาทะเลเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี แต่ก่อนจะทำการลงทุนจะต้องศึกษาอย่างละเอียดในทุกจุด จากบทความนี้แม้เพียงกล่าวถึงเรื่องกระชังเลี้ยงปลาและทำเลการเลี้ยงก็มีปัจจัยที่เราศึกษาหลายประเด็น ดังนั้นควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงมือเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook