กระเทียมถือเป็นเครื่องเทศสมุนไพรคู่ควรไทยในหลายเมนู ไม่ว่าจะพันธุ์ไหนคนไทยเราก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเข้ากันดีเหลือเกินกับเมนูอาหารต่างๆ และยังเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยโภชนาการทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพ วิธีสังเกตกระเทียมไทยกับกระเทียมจีนนั้นดูได้จากขนาดของกลีบกระเทียม โดยกระเทียมจีนนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่ากระเทียมไทยอย่างเห็นได้ชัด เปลือกกระเทียมจะล่อนและปอกง่ายกว่า และที่สำคัญราคาถูกกว่ากระเทียมไทย ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหารที่ไม่ต้อการกลิ่นฉุนมากนัก ส่วนกระเทียมไทยเรานั้นมีความชัดเจนจัดจ้านทั้งกลิ่นและรส เหมาะกับอาหารไทยที่ต้องการความหอมจัดๆ ของกระเทียม ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริก หรือนำมาผัด แกง ทอดตามสูตรไทยๆ หากนำมารับประทานสดๆ โดยไม่ปรุงจะได้รสชาติที่เผ็ดและเตะลิ้นมากกว่ากระเทียมจีน เรียกได้ว่าถึงรสถึงกลิ่น
สำหรับการแบ่งแยกพันธุ์กระเทียมไทย นั้น นิยมแบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยว ดังนี้
- กระเทียมที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะ 75-90 วัน เรียกว่า พันธุ์เบา เช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ พันธุ์ตาแดง พันธุ์หยวก
- กระเทียมที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะ 100-120 วัน เรียกว่า พันธุ์กลาง เช่น พันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ พันธุ์น้ำปาด พันธุ์บ้านโฮ่ง พันธุ์ปาย
- กระเทียมที่เก็บเกี่ยวได้หลังจาก 150 วัน เรียกว่า พันธุ์หนัก ส่วนใหญ่ที่ปลูกในปัจจุบันจะพบเป็นพันธุ์ไต้หวันหรือจีน
ลักษณะของพันธุ์กระเทียมไทยแต่ละพันธุ์จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยพันธุ์ตาแดงนั้นจะมีหัวพันธุ์ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กรัมและมีสีหัวพันธุ์เป็นสีขาวครีม ส่วนพันธุ์หยวกนั้นจะมีสีขาวเหลือง แต่ขนาดหัวพันธุ์จะเล็กกว่าพันธุ์แรก คือมีขนาด 7-12 กรัม ทั้งสองพันธุ์นี้ปลูกกันแพร่หลายในแถบอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ยอดฮิต กลิ่นจัด อย่างเช่น พันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ ที่เป็นขวัญใจของเพื่อนๆ เกษตรกร โดยพันธุ์เบานั้นจะลักษณะของลำต้นจะมีใบเรียวแหลม ลำต้นตั้งตรงแข็ง ส่วนพันธุ์กลาง อย่างพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ พันธุ์น้ำปาด พันธุ์บ้านโฮ่งและพันธุ์ปายนั้น จะมีขนาดกลีบและหัวพันธุ์ที่ใหญ่กว่าพันธุ์เบา สีเปลือกจะมีสีขาวอมม่วง ลักษณะใบมีขนาดเล็ก ลำต้นใหญ่ มีการปลูกมากในเขตภาคเหนือ
ปัจจุบันนอกจากการผลิตกระเทียมไทยพันธุ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารแล้ว ตลาดสำคัญอีกตลาดที่มีอุปทานสูง คือตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพร ที่นำกระเทียมไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเทียมเม็ดและแคปซูลเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่ต้องการกระเทียมสดไปใช้เป็นวัตถุดิบในการะผลิต เช่น น้ำพริกสำเร็จรูป และ กระเทียมเจียวสำเร็จรูป ที่ตลาดขยายมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผลผลิตทางการเกษตรของไทยเรามีตลาดรองรับเพิ่มมากขึ้น