ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งมาเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งประชาชนและภาคการผลิตทางการเกษตรของประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ในช่วงฤดูแล้ง แต่ประเทศไทยประสบปัญหาฝนแล้งอย่างต่อเนื่องและน้ำกักเก็บในเขื่อนหลายแห่งมีปริมาณไม่เพียงพอ แม้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะอยู่ในเขตชลประทาน ทำให้สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ แต่มีผู้คนจำนวนมากยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างจำกัด เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดสรรน้ำได้เนื่องจากภัยแล้งหรือเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ยินยอมให้ติดตั้งท่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำหรือคลองชลประทาน ขณะเดียวกันการเจาะบ่อบาดาลเพื่อบรรเทาปัญหาก็นำไปสู่การใช้น้ำบาดาลอย่างกว้างขวาง ซึ่งมักก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ดินเค็ม ดินทรุด และมีการเสียสมดุลของระบบน้ำบาดาล อาจทำให้เกิดปัญหากับระบบน้ำบาดาลต่อเนื่องไปอีกในอนาคต นอกจากนี้ การเจาะสำรวจน้ำบาดาลต้องใช้งบประมาณสูงและมีเทคนิคที่ซับซ้อน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้
เพื่อให้การจัดการทรัพยากรน้ำมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สวก.จึงสนับสนุนโครงการวิจัย “การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นจากทางน้ำโบราณโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นจากทางน้ำโบราณ โดยเทคนิคนี้เป็นแนวคิดที่ใหม่ในการนำน้ำจากน้ำที่ไหลหรือสะสมใต้ดินระดับตื้น (น้อยกว่า 15 เมตร) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินของแต่ละพื้นที่มากนัก ทำให้หลายชุมชนได้ออกแบบระบบเติมน้ำใต้ดินเองโดยไม่ได้ใช้หลักวิชาการและมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการ โดยหลายกรณีอาจจะนำไปสู่ปัญหาการปนเปื้อนของน้ำบาดาลและเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้
โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะเวลา 3ปี ซึ่งผลการดำเนินโครงการในปีที่ 1 และปีที่ 2 สามารถพัฒนาเทคนิคและวิธีการสำรวจแหล่งน้ำระดับตื้นจากทางน้ำโบราณ ในพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และได้ดำเนินการพัฒนาการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสม ในพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทำให้ประชาชนมีแหล่งน้ำใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ในกิจกรรมปีที่ 3 ได้พัฒนาระบบการเติมน้ำใต้ดินลงไปให้กับแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนที่ยั่งยืน โดยใช้งบประมาณและเทคโนโลยีที่เหมาะสม และจัดทำเป็นโครงการนำร่องเพื่ออบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่นี้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น ในการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นจากทางน้ำโบราณและการเติมน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้ชุมชนสามารถดำเนินการต่อยอดได้เอง เพิ่มจำนวนแหล่งน้ำทางเลือกหรือแหล่งน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ขาดแคลนน้ำและเป็นการช่วยลดการใช้น้ำบาดาลระดับลึกของชุมชนและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้อีกด้วย