สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นกันเกรา ปลูกไว้ให้เป็นมงคล

กันเกรา อ่านว่า “กัน-เกรา” เป็นพืชประเภทไม้ประดับมงคล ชื่อกันเกราเป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกในภาคกลาง ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า ต้นมันปลา ปักษ์ใต้เรียกว่า ตำเสา นอกจากความหอมรัญจวนใจและความงามของดอกกันเกราแล้ว ยังมีสรรพคุณต่างๆ มากมายที่เราจะมาชวนคุยกันในวันนี้ เริ่มต้นกันด้วยเรื่องความเชื่อแต่โบราณกันก่อนนะครับ ไม้กันเกราเป็นไม้ที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสิริมงคลในพิธีนั้นๆ เช่น ตอนวางศิลาฤกษ์ การลงเสาเอก การขึ้นบ้านใหม่ เพราะชื่อกันเกรา ทำให้เชื่อว่าจะช่วยกันภัยและเรื่องร้ายๆ ได้เป็นอย่างดี และชื่อทางเหนือและอีสาน ที่ว่ามันปลา ก็ยิ่งพ้องกับคำว่าข้าวใหม่ปลามัน เลยถูกนำไปใช้ในงานมงคลสมรสอีกด้วย และยังนำไปใช้ในพิธีบวชนาค โดยใช้ดอกกันเกราไปบูชาพระในงานบวชนาค และนำดอกอีกชุดหนึ่งไปจุ่มน้ำสรงพระพุทธรูปอีกด้วย

ตามความเชื่อเกี่ยวกับไม้กันเกราในการก่อสร้างบ้านนั้น จะต้องประกอบด้วยไม้ 9 ชนิด ซึ่งผมจะไม่พูดลึกนะครับ แต่จะพูดแค่ว่า ถ้านำกันเกรามาใช้จะต้องปักไว้ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน หรือตรงกลางบริเวณบ้าน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปกครองบริวารในบ้านได้ดี บุตรหลานเลี้ยงง่าย ไม่มีความละโมบ ไม่ถูกมอมเมายั่วยุได้

กันเกราเป็นต้นไม้สูง ขนาดใหญ่ปานกลางถึงใหญ่ พุ่มไม้กว้างประมาณ 8 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลแก่ ผิวมีรอยแตกจากบนลำต้นลงสู่รากเป็นร่องลึก สามารถแตกเปลือกออกมาเป็นกาบไม้เนื้อหนาได้ ใบของกันเกรามีสีเขียวและมีความวาวมัน ไม่มีการผลัดใบ ดอกกันเกรามีสีขาวเหลืองแตกช่อเป็นพวง กลิ่นหอมอ่อนๆ โดยทั่วไปต้นกันเกราจะถูกนำเนื้อไม้จากลำต้นไปแปรรูปเพื่อผลิตเป็นเครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ หรือใช้เป็นวัสดุในการสร้างบ้าน เช่น ทำเป็นไม้แผ่นพื้น หรือ ประตู วงกบหน้าต่าง เพราะมีลวดลายในเนื้อไม้ที่สวย ผิวละเอียด มีความเหนียว คงทน บางแห่งใช้ทำเป็นเสาบ้านอีกด้วย ส่วนกิ่งไม้สามารถนำมาทำเป็นฟืนได้เพราะมีน้ำมันในเนื้อไม้

สิ่งหนึ่งที่เราไม่น่าจะทราบกันนักก็คือ ไม้กันเกรา ถูกนำไปใช้ในการผลิตหีบจำปาหรือโลงจำปาของชาวจีน เพราะเนื้อไม้ที่สวยงามและความหมายที่เป็นมงคลของต้นไม้ชนิดนี้ อีกทั้งเรื่องของความเหนียวทนทานของเนื้อไม้ด้วยครับ และอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมผลิตจากไม้กันเกราก็คือไม้หมอนรางรถไฟครับ

เปลือกของกันเกราสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาแผลพุพองติดเชื้อและโรคผิวหนัง ด้วยการนำมาต้มน้ำอาบ หรือจะต้มดื่มบำรุงร่างกาย ส่วนใบและผลแห้งใช้รักษาโรคในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ แก่นของลำต้นใช้บำรุงธาตุ บรรเทาไข้ต่างๆ และดอกสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำมาใช้ในการระงับ เชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่สำคัญในอาหาร ที่ชื่อ S. aureus ได้ด้วยครับ

ประโยชน์มากมายอย่างนี้ จะปลูกไว้ที่ไร่ที่สวนซักหน่อยให้เป็นมงคลไม่น้อยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook