การผลิตกล้วยไม้ถูกท้าทายจากปัญหาการจัดการน้ำ เนื่องจากขาดงานวิจัยที่สนับสนุนข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความต้องการน้ำสำหรับการผลิตกล้วยไม้ที่แปรผันตามสภาพอากาศและฤดูกาล เกษตรกรยังคงอาศัยการตัดสินใจโดยอาศัยประสบการณ์เพื่อกำหนดเวลาและความถี่ในการให้น้ำ (experienced based decision making) กล้วยไม้สกุลหวายตัดดอกจัดอยู่ในพืชประเภท Crassulacean Acid Metabolism (CAM) มีความต้องการน้ำต่ำและมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำมากกว่าเมื่อเทียบกับพืช C3 และ C4 จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าในสวนกล้วยไม้มีการใช้น้ำสูงถึง 2,500 ลิตรต่อไร่ต่อครั้ง หากเทียบพื้นที่ผลิตของกล้วยไม้ในภาคกลางของประเทศไทยที่มีพื้นที่ผลิตกล้วยไม้ประมาณ 51,000 ไร่ (Office of Agriculture Economics, 2018) ทำให้ใช้น้ำมากถึง 52 ล้านลิตรต่อการให้น้ำ 1 ครั้ง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียน้ำดีและก่อให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก
ในสภาพอากาศที่ผันผวนในปัจจุบัน และทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพมีอยู่อย่างจำกัดในบางฤดูกาลของปี จึงจำเป็นต้องมีแผนการจัดการน้ำแบบองค์รวมเพื่อลดการแข่งขันระหว่างภาคส่วนในการใช้ทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมเองหรือระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสังคมเมือง เกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไม้ตัดดอกต้องปรับตัวและวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่ทำเช่นนั้นอาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและตลาดส่งออกไม้ตัดดอกของไทย
กล้วยไม้เป็นพืชชนิดอิงอาศัย ที่มีรากอากาศ ระบบการปลูกกล้วยไม้ในปัจจุบันจึงเป็นการปลูกกล้วยไม้ลงบนวัสดุปลูกต่าง ๆ เช่น ก้อนกาบมะพร้าว ก้อนดินเผา หรือ แผ่นคอนกรีต ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บน้ำ ไม่ใช่การปลูกลงดินเหมือนพืชชนิดอื่น ๆ แต่เมื่อพิจารณาถึงระบบการให้น้ำในปัจจุบันของการผลิตกล้วยไม้ พบว่าเป็นการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ เหนือทรงพุ่มของกล้วยไม้ ทำให้มีน้ำจำนวนมากสูญเสียไปจากระบบเนื่องจากน้ำที่ให้ไม่ได้สัมผัสกับวัสดุปลูก และไหลลงสู่พื้น หรือไหลออกจากวัสดุปลูกเนื่องจากเกินความสามารถในการกักเก็บน้ำของวัสดุปลูกชนิดนั้น ๆ
เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการให้น้ำสำหรับการผลิตกล้วยไม้ตัดดอก แนวคิดของการให้น้ำโดยตรงผ่านระบบรากและวัสดุปลูกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้ เกษตรกรยังสามารถพัฒนาระบบปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชได้โดยตรงผ่านระบบน้ำ ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานของพืชนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการตัดสินใจอย่างรอบรู้และเปลี่ยนไปสู่ระบบงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้น้ำในกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย ด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดการน้ำที่ยั่งยืน” เพื่อศึกษาความต้องการน้ำในกล้วยไม้สกุลหวายที่เหมาะสมในช่วงนอกฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูแล้ง และการพัฒนาการให้น้ำผ่านระบบรากในกล้วยไม้สกุลหวาย ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเกษตรกรยังสามารถลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ยา และสารกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการทำงาน ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ผ่านการให้น้ำมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น องค์ความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยสามารถนำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำจำกัดนอกพื้นที่ลุ่มภาคกลางได้ด้วยการใช้น้ำในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของกล้วยไม้ ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำจากน้ำเสียในระบบการเกษตร และเพิ่มความยั่งยืนในระบบเกษตรกรรม