ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงถึง 4 ครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประมาณ 16 ล้านไร่ ภาคการเกษตรซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลักได้รับผลกระทบโดยตรง บางพื้นที่ฝนแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับปัญหาคือปริมาณน้ำกักเก็บในบางพื้นที่มีจำกัด ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่การเกษตรขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและฤดูกาล พื้นที่ที่มีสระ หนอง คลอง บึง สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากในช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้อาจไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณน้ำฝน พื้นที่เก็บกักน้ำ ปริมาณการใช้น้ำ คุณสมบัติของดิน การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ลักษณะและคุณสมบัติของดินยังมีบทบาทสำคัญต่อศักยภาพในการกักเก็บน้ำของดินและการใช้น้ำของพืช
ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการสร้างแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาศัยน้ำฝนและน้ำธรรมชาติเป็นหลักในการทำการเกษตร โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตรโดยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตามความแปรปรวนและความไม่แน่นอนของน้ำทำให้คาดการณ์สถานะของแหล่งน้ำและความชื้นในดินได้ยาก ทำให้เกษตรกรเลือกพืชที่เหมาะสมในการเพาะปลูกได้ยาก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด โครงการเหล่านี้ได้เพิ่มพื้นที่รับน้ำในรูปแบบต่าง ๆ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ยังแสดงความสนใจอย่างมากในรูปแบบนวัตกรรมการจัดการพื้นที่ “โคก หนอง นา โมเดล” มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังช่วยให้มีน้ำใช้ตลอดปี ขจัดปัญหาภัยแล้ง ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ และลดการสะสมตัวของตะกอน เพราะพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงพอและต้นไม้สามารถอุ้มน้ำลงสู่ดินได้
สวก. เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน จึง สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่เพื่อการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพื่อศึกษาวิจัยเชิงระบบในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับและส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่ต่อสภาวะภัยแล้ง ด้วยการจัดการพื้นที่ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาจุดแข็งและลดความอ่อนไหวต่อสภาวะภัยแล้งของพื้นที่โดยติดตามและประเมินหรือคาดการณ์สถานภาพน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและน้ำร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้านในการเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ถูกต้องและหลากหลาย ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรเทาและปรับตัวภายใต้จากสภาวะภัยแล้งและสถานการณ์ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถแก้ไขสภาพปัญหาให้ผ่านภัยแล้งไปได้โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทำให้ดำเนินการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เกิดรายได้ และเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในที่สุด