สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กากน้ำตาล สารพัดประโยชน์

กากน้ำตาล หรือ โมลาส คือผลผลิตพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล มีลักษณะเป็นของเหลว มองเผิน ๆ คล้ายกับซีอิ้วดำเพราะมีสีน้ำตาลดำ มีความหนืด เข้มข้นสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยประโยชน์ทางตรงคือการส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ใช้ผลิตเป็นปุ๋ย และใช้เป็นอาหารสัตว์

ส่วนประโยชน์ทางอ้อมนั้นก็คือต้องนำเอากากน้ำตาลนั้นไปแปรูปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งนิยมนำไปใช้เพื่อผลิตสุราประเภทรัม หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแก๊สและแอทธิลีน อุตสาหกรรมการหมักกรดน้ำส้มประเภทต่างๆ การผลิตยีสต์เพื่อใช้ในการทำขนมอบ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรุงรส และที่คาดไม่ถึงคือ กากน้ำตาลถูกนำไปใช้ผสมในบุหรี่เพราะช่วยให้รสชาติดีขึ้น หรือถูกนำไปใช้ผสมสินค้าประเภทพลาสติกเพื่อให้พลาสติกเหล่านั้นมีความคงทนต่อแดดและความร้อนมากขึ้น

กากน้ำตาล สารพัดประโยชน์

ในเชิงการเกษตรนั้น กากน้ำตาล ได้รับความนิยมนำมาใช้ประโยชน์รอบด้านเช่นกันครับ อย่างการที่เราจะหมักหญ้าเพื่อเป็นอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างแพะ แกะ โค ม้า เราจะนำกากน้ำตาลมาผสมเข้าไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาการหมักให้ไวขึ้น และกากน้ำตาลที่นำมาหมักนี้ ยังช่วยทำให้อาหารหยาบมีรสชาติดีขึ้นและยังทำสัตว์ที่กินอาหารหยาบที่ผสมกากน้ำตาล สามารถย่อยอาหารในกระเพาะได้ง่ายขึ้น

อย่างช่วงฤดูแล้งที่ขาดแคลนหญ้าเพื่อทำเป็นอาหารหยาบ เพื่อนๆ เกษตรกรบางท่านเคยนำพวกยอดอ้อยหรือเปลือกสับปะรดให้สัตว์ทาน ก็จะพบปัญหาว่า สารอาหารและแร่ธาตุในอาหารต่ำมาก สัตว์ของเราก็ไม่เจริญเติบโต เราก็จะหันมาใช้กากน้ำตาลทีมีคาร์โบไฮเดรดสูง เป็นแหล่งพลังงานที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ เพราะกากน้ำตาลเปี่ยมไปด้วยซูโครสนั่นเองครับ

นอกจากนี้ยังถูกนำกากน้ำตาลมาหมักปุ๋ยน้ำ นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยการผลิตปุ๋ยน้ำหมักหรือน้ำหมักชีวภาพนั้น เศษพืชจะถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ โดยที่เราใช้กากน้ำตาลมาเป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ โดยการนำเอาเศษพืชผัก และสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาหมักกับกากน้ำตาลให้สร้างจุลินทรีย์ที่ดีจำนวนมาก เพื่อให้จุลินทรีย์ไปย่อยสลายธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในพืช ทั้งธาตุอาหารหลักและรอง ทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

ประโยชน์ของน้ำหมักที่ผลิตจากกากน้ำตาลนี้ เมื่อเพื่อนๆ เกษตรกรนำมาใช้ จะช่วยปรับโครงสร้างดินให้จับตัวดีขึ้น ร่วนและอุ้มน้ำได้ดี ปรับความเป็นกรดด่างให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ช่วยย่อยอินทรียวัตถุในดินให้กลายเป็นธาตุอาหารที่พืชดูดซึมได้ง่าย

การนำปุ๋ยหมักโมลาสมาใช้ในการปรับสภาพดิน สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์นั้น เราควรมีการทดสอบธาตุในดิน สภาพความเปรี้ยวเค็มของดิน ความเข้มข้นของสารโลหะหนักที่มีในดิน และคุณภาพของแหล่งน้ำกันก่อนนะครับ ว่าเราต้องการธาตุอาหารอะไรมาเสริมดินเรา แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าเราจะใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพมาปรับปรุงดินหรือไม่นะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook