พริกหยวกเป็นพริกในพันธุ์ Capsicum annuum Linn. เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะยาว ปลายใบแหลมคล้ายรูปหอกหรือรูปหัวใจ ดอก เป็นดอกเดี่ยว มีสีขาวหรือสีขาวอมม่วงออกตามซอกใบ ผลมีลักษณะเรียวยาวห้อยลงพื้น ผลอ่อนมีสีเขียวเหลือง และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือส้มเมื่อแก่ มีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดน้อย เนื้อหนา กรอบ มีคุณค่าทางอาหาร นิยมนำไปประกอบอาหาร
พริกหยวกสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิดครับ แต่ชอบดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูงการระบายน้ำดีไม่ชื้นหรือแฉะเกินไป มีความเป็นกรดด่างของดิน (pH) ประมาณ 6.0-6.8 อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตประมาณ 21-24 องศาเซลเซียส สามารถปลูกพริกหยวกได้ตลอดปี แต่นิยมปลูกในฤดูหนาว เพราะให้ผลผลิตดีเนื่องจากพริกหยวกต้องการอุณหภูมิต่ำในการติดผล และอุณหภูมิต่ำยังทำให้ผลมีขนาดใหญ่
ถ้าหากเราปลูกพริกหยวกในช่วงฤดูฝน ผลผลิตมักได้รับความเสียหายจากโรคที่เข้าทำลายต้นและผล เช่น โรคเหี่ยว โรคผลเน่า ทำให้มีผลผลิตน้อยในช่วงนี้แต่ราคาผลผลิตสูง ในช่วงฤดูร้อนมักประสบปัญหาเรื่องแมลงศัตรู เช่น เพลี้ยไฟ ไรขาว ทำให้ได้ผลผลิตน้อย หรือผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน การดูแลรักษาพริกหยวกค่อนข้างยากโดยเฉพาะในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ไม่ควรปลูกซ้ำพื้นที่ เพื่อนๆ เกษตรกรต้องมีการจัดการที่ดีและต้องเอาใจใส่อย่างมากเลยครับเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
การปลูกพริกหยวกยังมีประเด็นในการผลิตอยู่บ้างนะครับ เพราะต้นพริกมีความหนาแน่นทึบ ทำให้พ่นสารกำจัดเมลงและโรคได้ไม่ทั่วถึง เกิดการสะสมของโรคและแมลงในแปลงปลูก ทำให้ผลผลิตเสียหาย และมีปัญหาแมลงดื้อยาตามมา การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ไม่สะดวก กิ่งแขนงมากเกินไปทำให้ผลพริกเจริญเติบโต ไม่เต็มที่ เกิดลักษณะบิดงอ เป็นลักษณะผลพริกที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ทำให้จำหน่าย ผลผลิตได้ในราคาต่ำ นอกจากนี้ทรงพุ่มที่แน่นทึบ ทำให้ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของพืชเป็นไป ได้ไม่เต็มที่ ใบที่อยู่ภายในทรงพุ่มจะถูกบังแสง ทำให้มีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงต่ำ
วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็คือการตัดแต่งกิ่งบางส่วนของต้นพริกหยวกออก เพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่ง การใช้อาหารของใบลดลง ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงดีขึ้น เนื่องจากใบได้รับแสงเต็มที่ ทำให้ต้นพืชมีการเจริญเติบโตที่ดีการพัฒนาของผลดีขึ้น ลดการสะสมของเชื้อโรคภายในแปลงปลูกการตัดแต่งกิ่งช่วยให้คุณภาพผลผลิตดีขึ้น มีน้ำหนักผลเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะทำให้ผลผลิตรวมลดลงก็ตาม การตัดแต่งกิ่งเป็นการจัดการแสงภายในทรงพุ่มให้มีการบังแสงน้อย จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ใบพืชสามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างของทรงพุ่ม และยังอาจจะมีผลต่อผลผลิตของพริกหยวกอีกด้วย